ฟังนักวิเคราะห์ข่าวมือเก๋าอย่างสำราญ , คำนูณและสโรชา พร้อมแขกรับเชิญมากมาย ร่วมถกประเด็นวิปโยค โศกนาฎกรรมแห่งศตวรรษ เมื่อคลื่นยักษ์ซัดถล่มเอเชีย
สโรชา – สวัสดีค่ะ คุณผู้ชม ขอต้องรับเข้าสู่รายการก่อนจะถึงวันจันทร์นะคะ วันนี้เราจะมาเกาะติดสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 8.9 ริกเตอร์ และส่งผลประทบให้เกิดคลื่นยักษ์ Tsunami ที่พัดถล่มหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยด้วย
คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจากทั่วภูมิภาคน่าจะทะลุ 3000 ราย เพราะขณะนี้ที่ศรีลังกาประเทศเดียวตอนนี้ยอดประมาณ 2300 – 2400 รายแล้ว ทั้งหมดเราจะตรวจสอบสถานการณ์รวมถึงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันสามารถที่จะเตือนภัยกันได้ล่วงหน้าหรือไม่ สำหรับเรื่องแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในวันนี้ค่ะ ติดตามประเด็นเหล่านี้ได้ในก่อนจะถึงวันจันทร์ กับเราทั้ง 3 คนเช่นเคยค่ะ คุณสำราญ รอดเพชร คุณคำนูณ สิทธิสมาน และดิฉันสโรชา พรอุดมศักดิ์ค่ะ
สำราญ , คำนูณ – สวัสดีครับ
สโรชา – ไม่น่าเชื่อนะว่าจะเกิดขึ้นได้ ดิฉันติดตามข่าวมาทั้งวัน เหมือนดูหนังเลย เคยดูเรื่องนี้ไหมคะ The day after tomorrow ที่มีคลื่นยักษ์พัดถล่มฝั่งนิวยอร์กของอเมริกา แต่บ้านเรานี่คือ 10 เมตรเห็นจะได้ เห็นเขาว่ากันว่าอย่างนั้น
สำราญ – หมายถึงความสูงของคลื่นหรือ
สโรชา – ใช่
สำราญ – ก่อนเกิดเหตุ ผมอยู่ที่เกาะสมุย
สโรชา – เพิ่งกลับมาสดๆร้อนๆ
สำราญ – แต่ก็ตกใจ เพราะว่าจู่ๆพวกนักบินเขากโทรกัน เป็นอย่างนี้ๆนะ แย่แล้ว พันศพ แบบระส่ำระสาย
คำนูณ – ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยวันนี้ อาจจะใหญ่ที่สุดในรอบหลาย 10 ปี ยอดผู้เสียชีวิตตอนนี้ยังนับไม่ได้ เพราะว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้อยู่ในระดับ 200 ใช่ไหม
สโรชา – ประมาณนั้นค่ะ คืออย่างเป็นทางการนี่ไม่ถึง
สำราญ – เมื่อกี๊ฟัง ต้องอ้าง อสมท. นิดนึงนะ เขาบอกว่าเฉพาะที่เกาะพีพีนี่ 200 กว่านะ คือเขารายงานสดมาเลยจากโรงพยาบาล และก็เขาได้รับรายงานจากที่เกาะพีพีด้วย แล้วก็เฉพาะที่ภูเก็ต มันไม่ใช่ 64 ศพที่ว่า มันปริ่มๆ 100 แล้ว คือศูนย์นเรนทรรายงานมาตอนเย็นนี่ก็ 198 ศพ ทั้งหมด 6 จังหวัด
สโรชา – แต่นี่ยังไม่รวมยอดผู้สูญหายด้วยนะคะ
สำราญ – ผมว่าพรุ่งนี้แหละ นี่ยังไม่รวมถึงเรือประมงนะ
สโรชา – หลายร้อยลำอยู่
สำราญ – ก็ภาวนาให้เสียหายน้อยที่สุด แต่ว่าเอาเข้าจริงนี่ 300-400 นี่เป็นเรื่องธรรมดามาก ผมว่านะ แต่ว่าชาวต่างชาตินี่เยอะเหมือนกัน มากกว่าครึ่งอีกเท่าที่ฟังรายงานเบื้องต้น
คำนูณ – ครับ แล้วก็มีบุคคลสำคัญของไทย
สำราญ – คุณบรม ตันเถียร ก็เสียชีวิต อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง
คำนูณ – อดีต ส.ส. พังงา
สำราญ – ส่วนลูกสาวที่ลงพรรคประชาธิปัตย์ก็บาดเจ็บ แล้วเข้าใจว่าจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยนะครับ
สโรชา – เดี่ยวเราจะไปที่นักข่าวของเราที่อยู่ที่ จ.ภูเก็ต คุณธัญญา มั่นการ สวัสดีค่ะ
ธัญญา – ค่ะ สวัสดีค่ะ
สโรชา – ค่ะ ตอนนี้ที่นั่นเป็นยังไงบ้างคะ
ธัญญา – ค่ะ ตอนนี้สถานการณ์ถือว่ายังไม่คลี่คลาย เพราะว่ายอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จาก 66 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 83 รายแล้ว และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเป็น 691 ราย สูญหาย 67 รายค่ะ คือว่ายอดตอนนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือเพิ่มจากช่วงเย็นๆ เพิ่มขึ้นๆนะคะ
สโรชา – นี่คือที่เฉพาะจังหวัดภูเก็ตใช่ไหมคะ
ธัญญา – ค่ะ และส่วนของที่จังหวัดพังงาเท่าที่ดิฉันได้รับรายงานล่าสุด ยังอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าคน แล้วก็บาดเจ็บประมาณ 1902 คนนะคะ แล้วก็สูญหายประมาณ 145 คนนะคะ นี่คือตัวเลขล่าสุดที่ได้รับรายงาน ถ้าในส่วนของ จ.กระบี่ พื้นที่ๆติดทะเล โดยเฉพาะเกาะพีพีตอนนี้เสียหาย 100% เลยค่ะ เบื้องต้นตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตยังคงที่ ในส่วนของจังหวัดกระบี่คือ 24 รายค่ะ แล้วก็บาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 647 ราย แล้วก็สูญหายประมาณ 1000 คน เท่าที่ทราบในตอนนี้
สโรชา – ตอนนี้ท่านนายกฯเดินทางไปถึงหรือยังคะ
ธัญญา – ตอนนี้กำลังรอท่านนายกฯอยู่ค่ะ ที่ศาลากลาง จ.ภูเก็ตค่ะ คือทุกฝ่ายกำลังรอท่านนายกฯอยู่ค่ะ
สโรชา – แล้วท่าน มท.1 จริงแล้วลงไปในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายแล้วใช่ไหมคะ มีการประชุมด่วน มีผลการประชุมออกมาบ้างไหมคะ
ธัญญา – ตอนนี้หลังจากที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านโภคิน พลกุลได้มาลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตนะคะ แล้วก็ได้ประชุมร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้รายงานผลสรุปความเสียหายในพื้นที่ จ.ภูเก็ตให้ฟัง ท่านรัฐมนตรีก็ได้มีนโยบายให้ จ.ภูเก็ตจัดตั้งศูนย์ Call Center ให้เป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากว่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมาสอบถามหาญาติของตนได้ เนื่องจากว่ายอดผู้เสียชีวิตในจังหวัดภูเก็ต เป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าคนไทย
สโรชา – ตอนนี้ก็คือรอท่านนายกฯอยู่
ธัญญา – ค่ะ กำลังรออยู่ค่ะ
สโรชา – ค่ะ ขอบคุณมากเลยค่ะ คุณธัญญา
สำราญ – ตอนนี้ก็อยู่กับครบ คุณสุธรรม ดร.โภคิน นายกฯไปแล้วเมื่อกี๊
สโรชา – ไปตั้งแต่ช่วงเย็นแล้ว ตอนนี้กำลังรออยู่ว่า
สำราญ – บินจากขอนแก่นตรงไปยังภูเก็ตเลย
สโรชา – ก็ตรวจสอบตัวเลขเปลี่ยนตลอดเวลา
สำราญ – คือเราก็อยากรู้นะ ไม่ใช่ไม่อยากรู้ แต่ว่ามันก็เปลี่ยนไป ยอดพรุ่งนี้เช้าก็ยังไม่ตรงกันอยู่ดี คง 2-3 วัน ยอดถึงจะนิ่งว่างั้นเถอะ แล้วศพที่ลอยล่องในทะเลก็อีกจำนวนหนึ่ง
สโรชา – เห็นว่าบอกว่าตามรายงานข่าว ทาง อบจ.ของ จ.ภูเก็ตเอง ก็อยู่ในพื้นที่ระหว่างที่เกิดเหตุ เห็นอยู่ไกลๆว่ามีคลื่นมา ก็ยังสงสัยว่าทำไมวันนี้คลื่นใหญ่จัง แต่ว่าคาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นคลื่นยักษ์ ผลปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่นาที ยังไม่ทันตั้งตัวกันเลยก็ถึงฝั่งแล้ว
สำราญ – คือผมก็ฟังวิทยุตอนหัวค่ำนะ คือฟังแล้วมันก็ค่อนข้างจะสับสน ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ก็พูดกันคนละทีสองที ผมว่าดีแล้วที่เราเชิญนักวิชาการมา เชิญคนที่รอบรู้เรื่อง Tsunami มา เพราะทางกรมทรัพยากรบอกว่าไม่ใช่ เพราะว่าถ้าเป็น Tsunami มันต้องใหญ่กว่านี้
สโรชา – นี่ประมาณ 8-10 เมตร ในบ้านเรา ท่านบอกว่าอาจจะไม่ถึง จะไปเรียกว่าเป็น Tsunami ไม่ได้
สำราญ – ทีนี้คุณอัญชลี วานิชเทพบุตร นายก อบจ.ภูเก็ตก็โทรศัพท์เข้ามาคุยกับผู้อำนวยการแผ่นดินไหวของกรมอุตุฯ ก็คุยสายตรงกัน ก็ทางโน้นก็อยากรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหม แต่ทางนี้ก็บอกว่ามันเกิดไปแล้วตั้งแต่ 10 โมงครึ่ง
สโรชา – ล่าสุดนี้ก็คือผ่านไปแล้ว
สำราญ – ลูกแรกที่เกิดขึ้นจริงๆคือ 9.15 น. นี่ที่ ผอ. แผ่นดินไหวท่านพูดนะครับ
สโรชา – สื่อต่างประเทศได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก
คำนูณ – คือปัญหาก็คือว่า ถ้าจะมองกันอย่างให้อภัยในทุกฝ่าย อย่างมองโลกในด้านดี ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยนั้นคงจะไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับภัยธรรมชาติขนาดหนักอย่างนี้ คลื่นจะ Tsunami หรือไม่ ฟังดูคือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ เพราะฉะนั้นก็คงไม่มีใครผิด แต่ถ้ามองในเชิงที่เรียกว่าเคร่งเครียดซักนิดนึง ก็คงจะต้องถามว่า เราไม่มีมาตรการเตือนภัยอะไรบ้างเลยหรือ
สโรชา – นี่ค่ะ ไปคุยกับคุณบุรินทร์เลย นักอุตุนิยมวิทยา อยู่ในสายกับเรา สวัสดีค่ะ คุณบุรินทร์
บุรินทร์ – ครับ สวัสดีครับ
สโรชา – ค่ะ คำถามแรกก็คือ ว่าเราสามารถจะเตือนภัยล่วงหน้าได้ไหมคะ
บุรินทร์ – เรื่องของพยากรณ์แผ่นดินไหว คงจะเตือนกันล่วงหน้าไม่ได้ แต่ว่าถ้าสมมุติเป็นลักษณะของคลื่น Tsunami ที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก มีหน่วยงานเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง Tsunami ที่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ เนื่องจากว่าเครื่องจะเดินทางข้ามมหาสมุทรไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง อย่างในกรณีของประเทศไทย ระบบการตรวจวัดแผ่นดินไหว กับระบบการตรวจคลื่น Tsunami ของบ้างเรา โดยเฉพาะตรวจ Tsunami มันยังไม่มี
สโรชา – แสดงว่าคือไม่มีสิทธิ์ทราบล่วงหน้าเลยใช่ไหมคะ แล้วประเทศอื่นเขาทราบไหมอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย หรือว่าศรีลังกา
บุรินทร์ – เขาก็ไม่ทราบเหมือนกัน
สโรชา – แสดงว่าประเทศในภูมิภาคเหล่านี้ไม่ได้ใช้ระบบเตือนภัยเลย
บุรินทร์ – คือระบบเตือนภัยมันยังไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาในเรื่องของ Tsunami นะครับ เนื่องจากว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อยู่ในทะเลอันดามัน แล้วก็ทำให้เกิดคลื่นในครั้งนี้ ค่อนข้างที่จะใกล้กับชายฝั่ง คือไม่เกินซัก 500 –600 กิโลเมตร พูดถึงในกรณีของประเทศไทยนะครับ เนื่องจากว่าคลื่น Tsunami มันมีความเร็วมาก ตั้งแต่ 100 – 700 กิโลเมตร / ชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างจะไว ภายในครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงก็จะถึงแล้ว
สโรชา – คือไวมากถึงขึ้นว่า ถ้าเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะเตือนภัยกันล่วงหน้า
บุรินทร์ – ยกเว้นแต่ในกรณีที่เรามีเครื่องมือตรวจวัดดีๆ มีประสิทธิภาพสูง แล้วก็สามารถที่จะหาจุดศูนย์กลางได้ในทันที ประมาณซัก 5 นาที แล้วก็มีระบบเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถที่จะเตือนภัยที่จะอพยพได้ พอที่จะบรรเทาลงไปได้ครับ
คำนูณ – สรุปก็คือเราไม่มีระบบที่ว่านี้
บุรินทร์ – ครับ ตอนนี้ยังไม่มี คือระบบเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในปัจจุบัน ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอครับ
คำนูณ – ระบบเชื่อมโยงกับระบบเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆยังไม่ดีพอ
บุรินทร์ – ครับ ยังไม่ดีพอ ตรงนี้มีมาตรการหลัก แต่ว่าตอนนี้กำลังที่จะเสนอทาง ครม. เกี่ยวกับเรื่องแผนหลักและแผนปฏิบัติการ ที่จะดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว ภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยอยู่นะครับ
สำราญ – ประเทศที่เขามีแผ่นดินไหวบ่อยๆ เขาคงมีเครื่องวัดที่สามารถ ที่สมัยใหม่ว่างั้นเถอะ เขาสามารถล่วงรู้ได้อย่างไรบ้างครับ ที่ว่าสามารถนี่
บุรินทร์ – คือปกติแล้วเกิดแผ่นดินไหวแล้ว เราถึงจะตรวจวัดได้ มันไม่เหมือนกับพายุ พายุนี่เราจะสามารถเห็นได้ด้วยสายตา จากเรดาร์ จากภาพถ่ายดาวเทียม และก็สามารถกะคำนวณเวลาเดินทางของพายุมาในตำแหน่งที่จะส่งผลกระทบได้ แต่ในเรื่องของแผ่นดินไหวมันจะต่างกันเยอะ เพราะว่าเราไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ว่ามันจะเกิดตรงตำแหน่งนี้เมื่อเวลาเท่าไหร่ แล้วขนาดเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ
สโรชา – ปกติมันจะมีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกล่วงหน้าไหมคะ ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี่
บุรินทร์ – มันไม่ทุกครั้งไปครับ คือลักษณะของการเกิดแผ่นดินไหวตรงจุดนี้ มันเกิดเนื่องจากรอยการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก 2 ชิ้นด้วยกัน คือแผ่นที่เป็นอินโด-อสสเตรเลียน เพลตนะครับ กับ ยูโรเชียน เพลต ที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในแผ่นนี้ แผ่นยูโรนี่จะเลื่อนตัวลงมาทางใต้ ส่วนแผ่นอินโด-ออสเตรเลียนจะเลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ ก็จะเฉือนกันบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้เกิดการแตกหักของรอยร้าวในหินใต้เปลือกโลก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวตรงแนวนี้ล่ะครับ
คำนูณ – คือจุดที่เกิดนอกจังหวัดอาเจะห์ กว่าจะเดินทางมาถึงที่ฝั่งจังหวัดประเทศไทย มันใช้เวลาเท่าไหร่
บุรินทร์ – หมายถึงคลื่นแผ่นดินไหว หรือว่าคลื่น Tsunami ครับ
คำนูณ – คลื่นยักษ์นี่น่ะครับ
บุรินทร์ – คลื่นยักษ์นี่อย่างที่กล่าวให้ฟัง ว่าในแปซิฟิกมันมีความเร็วตั้งแต่ 100-700 กิโลเมตร/ชั่วโมง
คำนูณ – ไม่ใช่ครับ หมายถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้น่ะครับ
บุรินทร์ – ก็ประมาณ 1 ชั่วโมงครับ
คำนูณ – ทีนี้คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ณ วินาทีที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกที่นอกชายฝั่งอาเจะห์ เรารู้ไหม หรือว่าเราประสานงานกับทางอินโดนีเซียเขาได้รู้ไหมว่า โอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์ไปกระทบประเทศที่อยู่รอบฝั่งมหาสมุทรอินเดียนี่เกิดขึ้นได้ แล้วเราได้เร่งเตือนภัยแม้ว่าจะบรรเทาความเสียหายได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็อาจจะบรรเทาได้บางส่วน
บุรินทร์ – ครับ คือโดยปกติหลักการก็จะเป็นอย่างนั้น ทีนี้เนื่องจากว่า ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยโบราณมาเลยนะ เกี่ยวกับคลื่น Tsunami ในทะเลอันดามันนี่ ปรากฏว่าไม่เคยเกิดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น แม้ว่าจะมีแผ่นดินไหวระดับ 7.6 เมื่อปี 2002 ในตำแหน่งเดียวกัน ที่บริเวณเหนือเกาะสุมาตราเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพียงแต่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ กทม. เท่านั้น แต่ครั้งนี้มันค่อนข้างใหญ่กว่าปกติมาก ผิดปกติว่างั้นเถอะครับ ระดับ 8-9 ริกเตอร์ ซึ่งติดอันดับโลกเลยนะครับ ขณะนี้
คำนูณ – ก็แปลว่าตอนที่เกิดครั้งแรกนี่เราไม่รู้ว่ามันใหญ่ขนาดนี้
บุรินทร์ – เราทราบว่าในระดับ 8 เราเข้าใจว่ามันคล้ายๆกับว่ามันตัวจากเกาะสุมาตราบังไว้อยู่เมหือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2002 มันไม่เคยเกิดคลื่น Tsunami
คำนูณ – หมายถึงว่าในอดีตที่ผ่านมา มันไม่เคยเกิดคลื่น Tsunami
บุรินทร์ – ในช่วงหลาย 100 ปี ไม่เคยคลื่น Tsunami ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ขนาดนี้
คำนูณ – สาเหตุเป็นเพราะอะไรครับ
บุรินทร์ – ขนาดมันยังไม่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดคลื่นใหญ่ ขนาดของแผ่นดินไหวน่ะครับ คือเมื่อปี 2002 เดือนพฤศจิกายน เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.6 ตรงบริเวณนี้เลย ใกล้ๆบริเวณนี้ แล้วก็เพียงแต่ว่าทำความตื่นเต้นตกใจให้กับผู้คนใน กทม. ซึ่งอยู่บนอาคารสูงเท่านั้นเอง
สโรชา – ปกติแล้วตามหลักวิชาการ หรือหลักที่เคยศึกษากันมานี่นะคะ ว่าคลื่น Tsunami นี่มันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนเท่าไหร่
บุรินทร์ – ประมาณ 6.5 ขึ้นไปครับ ทางผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเขาวิจัยกัน ในบริเวณประเทศญี่ปุ่น ถ้าแผ่นดินไหวระดับ 6.5 ขึ้นไป ก็จะเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดคลื่น Tsunami ขึ้นมาได้ ถ้ายิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่ โอกาสที่ความรุนแรงของคลื่นก็จะเพิ่มขึ้น
สโรชา – อย่างนี้ถ้าเกิดความเราทราบจากอินโดนีเซียตั้งแต่ตอนแรกว่ามันใกล้ๆ 8 หรือว่า 8 กว่า ตามรายงานเดิมทีเข้าใจว่า 8.1 ถูกไหมคะ เราจะไม่ได้นึกเฉลียวใจไปตอนแรกว่า มันอาจจะเกิดขึ้นได้ในเมื่อแรงสั่นสะเทือนมันขนาดไหน
บุรินทร์ – คือโดยปกติคลื่น Tsunami มันจะส่งผลกระทบโดยตรงกับชายฝั่งที่เกิด ตรงบริเวณกับศูนย์กลางเลยนะครับ ทีนี้ตัวศูนย์กลางของระดับ 8.9 มันอยู่ต่ำลงมาจากหมู่เกาะสุมาตรา อย่างเช่น ในกรณีของที่ปาปัวนิวกีนี ก็มีแผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณใกล้ชายฝั่งอย่างนี้เหมือนกัน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริเวณที่เกาะบัง ในกรณีนี้ผมก็ยังแปลกใจอยู่ว่า มันทำไมถึงเกิดคลื่น Tsunami ได้และทำความเสียหายได้มากขนาดนี้
สโรชา – คลื่นที่ไปกระทบชายฝั่งของอินโดนีเซีย และไปถล่มศรีลังกา นี่เกิดจากแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียหรือเปล่าคะ
บุรินทร์ – ที่เกาะสุมาตรานี่แหละครับ
สโรชา – ที่เดียวกัน เกิดจากแหล่งเดียวกัน แล้วมันมีผลกระทบหรือมีเหตุเกี่ยวข้องกับที่เกิดขึ้นที่อินเดียหรือเปล่าคะ
บุรินทร์ – ใช่ครับ อันเดียวกันเลยครับ มีที่ส่งผลกระทบ มันจะส่งผลเป็นบริเวณกว้างน่ะครับ คลื่นก็เหมือนกับการที่เราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ ก็จะแผ่กว้างเป็นวงกลม ก็จะส่งการเดินทางของหน้าคลื่นไปกระทบกับแถวเกาะศรีลังกา ชายฝั่งทางตอนใต้ของอินเดีย แถวบังคลาเทศ ทางตะวันตกของประเทศไทย แต่ที่สงสัยคือในประเทศพม่ายังไม่มีรายงานเข้ามา แล้วก็ถ้าเป็นลักษณะของคลื่น Tsunami ที่เกิดในแปซิฟิกนี่ คลื่นตัวนี้อาจจะข้ามไปถึงประเทศ ของชายฝั่ง ของมหาสมุทรได้ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะใหญ่เพียงพอที่จะข้ามฝั่งไปแถวอาหรับ หรือว่าแอฟริกาหรือเปล่า อันนี้ต้องติดตามดูนะครับ
สำราญ – อย่างกว้างๆคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยม จากนี้ไป จะเป็นยังไง
บุรินทร์ – เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวใช่ไหมครับ โดยธรรมชาติในเรื่องของแผ่นดินไหว การพยากรณ์คงจะลำบาก เราคงต้องเตรียมการในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยมากกว่า อย่างเช่นในแง่ของแผ่นดินไหวนะครับ ในเรื่องของการก่อสร้าง เรื่องของการกำหนดเขตพื้นที่เสี่ยงภัย เรื่องของการพัฒนาระบบการตรวจวัด และก็อีกมาตรการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การมีแผนหลักและก็แผนปฏิบัติในการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย เหล่านี้จะต้องเซ็ทขึ้นมาอย่างมีหลักการน่ะครับ
สโรชา – คืนนี้มีความเป็นไปได้ไหมคะ ว่าจะมีการเกิดคลื่นยักษ์อีกรอบหนึ่ง
บุรินทร์ – ผมคงตอบปัญหานี้ไม่ได้ ในเรื่องของภัยธรรมชาติ แต่คงต้องติดตามในเรื่องของ After Shock ที่เกิดบริเวณเดิมนี่นะครับ คือตอนนี้เท่าที่ผมดูจากข้อมูลนะครับ มี After Shock ที่แรงระดับ 5 หรือ 6 นี่อยู่ 2 ครั้งบริเวณหมู่เกาะสุมาตรา แต่ว่ามันจะไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดคลื่น Tsunami อันนี้ได้ แต่ว่ามันมีเหตุการณ์ที่ซ้อนขึ้นมาอีก ก็คือว่า คลื่นตัวแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์นี่ มันกระตุ้นให้แนวแผ่นดินไหวของโลกบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีกหลายๆครั้ง ในระดับ 5-6 และ 7 อยู่เหมือนกัน ที่ห่างออกไป 1000 กิโลเมตรบ้าง 300-400 กิโลเมตรบ้างทางทิศเหนือของตำแหน่งเดิมครับ
สโรชา – เพราะฉะนั้นตอนนี้เราไม่สามารถไว้วางใจได้เลย ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกภายในคืนนี้
บุรินทร์ – เราจะพูดอย่างนั้นก็คงจะพูดได้ลำบาก แต่ระมัดระวังไว้ดีกว่านะครับ
สโรชา – ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ คุณบุรินทร์คะ
บุรินทร์ – ครับ สวัสดีครับ
สโรชา – ฟังดูแล้วก็ไม่น่าไว้วางใจ
คำนูณ – ฟังดูแล้วก็ต้องสวดมนต์ครับ
สโรชา – คือมันเกิดแรงสั่นสะเทือนแรงขนาดนี้ ไปทำให้มีแรงสะเทือนอื่นๆเกิดขึ้นใต้ท้องทะเล
สำราญ – คำพยากรณ์ก็คือ แน่นอนก็คือไม่แน่นอน ไม่แน่นอนก็คือแน่นอน
สโรชา – จริงๆแล้วขอบอกว่าแผ่นดินไหวนี่น่ากลัว
คำนูณ – ในมุมที่เราอยากจะพูดนะ คือเราสงสารภาคใต้ของประเทศไทย เพราะว่าในรอบปี 2547 มานี้ ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยมนุษย์ก่อขึ้น และก็ภัยสงคราม รวมๆกันแล้วผมไม่แน่ใจว่ายอดผู้เสียชีวิตเกิน 1000 แน่นอน จะถึง 2000 หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แล้วเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้เจอ 3 จังหวัดภาคใต้เหมือนกัน แต่เป็นภูเก็ต พังงา กระบี่นี่ ยอดผู้เสียชีวิตผมว่าก็น่าจะใกล้เคียง ตอนนี้ด้ามขวานของเรามีปัญหาครับ
สโรชา – แต่ตอนนี้สงสารผู้ประกอบการในช่วง Hi Season เขาบอกว่าแน่นเอี๊ยดเลยนะคะ ภูเก็ตนี่คือไม่ต้องหวังว่าจะไปเลย
สำราญ – เขาบอกว่าโรงแรมชั้นหนึ่งนี่หมดเลย
คำนูณ – เพราะโรงแรมชั้นหนึ่งนี่ก็ต้องอยู่ริมชายหาด
สโรชา – แต่ว่าในเมืองนี่ก็ยังปกติอยู่ใช่ไหมคะ
คำนูณ – มันก็ทำให้ชื่อเสียงของภูเก็ตเราจะแปรเปลี่ยนไปนะ จากเดิมเป็นทะเลที่งามและสงบ ไม่มีภัยธรรมชาติ เหตุการณ์ครั้งนี้มันก็คงจะตราตรึงไป แล้วก็คงจะในเชิงเศรษฐกิจมันก็คงจะฮวบลงไป
สโรชา – ค่ะ ตอนนี้เราก็กำลังเกาะติดสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ฝั่งอันดามันของประเทศไทย ตอนนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตยังไม่นิ่ง เดี่ยวเราจะติดตามอีกทีหนึ่ง แต่ว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านจะมาพูดคุย และมาเล่าให้เราฟังว่า เหตุการณ์อย่างนี้เกิดได้อย่างไร การเกิดแผ่นดินไหวมันเกิดจากอะไร รวมไปถึงคลื่นยักษ์ที่ว่าจะเกิดจากแผ่นดินไหว และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอต้อนรับ รศ.ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าคณะวิจัยทางด้านความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทย และคุณอมรภัทร ชมรัตน์ ผู้ผลิตรายการสำรวจโลก เนชันแนล จีโอกราฟฟิกค่ะ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – สวัสดีครับ
อมรภัทร – สวัสดีครับ
สโรชา – อาจารย์คะ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมคิดว่าถ้าเกิดว่าฟังคำอธิบายจากคุณบุรินทร์ก็คงจะเข้าใจว่า ก็เป็นอย่างที่อธิบายไป คือตำแหน่งที่มันเกิดมันเป็นบริเวณรอยต่อของเปลือกโลก บางทีคนฟังอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องว่าโลกเรามันมีเปลือกอยู่หลายชิ้น ไม่ได้เป็นเปลือกเดียวตลอด จริงๆมันเป็นเปลือกแตกๆ เป็นชิ้นเล็กบ้าง ชิ้นใหญ่บ้าง ทีนี้ประเทศไทยตั้งอยู่บนชิ้นนึง และก็มันมีเปลือกอยู่ข้างใต้ที่กำลังมุดอยู่ใต้เปลือกเรานี่ แนวขอบเปลือกนี่ก็คือจุดที่เกิดแผ่นดินไหวตรงนี้พอดี เรารู้มานานแล้วว่า เปลือกข้างใต้นี่มุดใต้เปลือกของเราด้วยอัตราเคลื่อนตัวประมาณ 60 มิลลิเมตร/ปี มันช้ามาก มันทำให้หินแถวๆนั้น เปลือกโลกมันเป็นหินนี่ถูกอัดถูกบี้ถูกเฉือน แต่ว่ามันถูกยึดติดกันด้วยแรงเสียดทาน แต่ว่ามันอัดไปนานๆเข้า พอถึงวันดีคืนดีมันทนไม่ไหว มันก็แตก มันก็ไถล พอมันไถลที มันก็เกิดเป็นแผ่นดินไหว คือมันจะส่งคลื่นออกมากระจายทุกทิศทาง
สโรชา – ถ้ามองตามภาพนี่หมายความว่า แผ่นมันจะมุดลงไปข้างใต้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – มันจะเสียดสีกัน แต่ว่ามันมีแรงเสียดทานอยู่ทำให้มันยึดกันในบางครั้ง แต่พอไปนานๆแรงอัดแรงเฉือนมันมากเกินไป หินมันก็แตกได้มันก็ระเบิดออกมา ทีนี้มันอาจจะสะสมอยุ่ ค่อยๆมุดและยึดกันเป็นร้อยๆปีในบางจุด หรือบางทีอาจจะเป็นพันปี พอมันหลุดมันหลุดทีเดียวภายในเวลาไม่กี่วินาที พลังที่มันสะสมมาในเนื้อหินเป็นเวลานานๆ มันปล่อยมาครั้งเดียวมันเลยกลายเป็นพลังงานมหาศาล กลายเป็นคลื่นสั่นสะเทือนไปทั่ว ถ้าเผื่อว่าใต้ทะเลมันก็อาจจะทำให้พื้นท้องน้ำนี่ เปลี่ยนรูปร่างฉับพลัน
สำราญ – เปลือกโลกนี่มันมีซักกี่ชั้นครับ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – เปลือกโลกที่มันเป็นหินแข็งๆนี่มีชั้นเดียวหนาประมาณซัก 70 กิโลเมตร ข้างใต้นี่มันเป็นหินหลอมเหลว
คำนูณ – เหมือนไข่ยางมะตูม
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ครับ ทำนองนั้น 70 กิโลเมตรนี่ก็อาจจะแบ่งเป็นอีกหลายๆชั้น แต่เรานับว่าเป็นผิวแข็งๆอยู่แค่นี้ และผิวนี้มันก็มุดใต้อีกเปลือกหนึ่งซึ่งหนาพอๆกัน แต่ว่าความหนามันก็แตกต่างกันไปตามตำแหน่ง ของเราคือยูโรนี่อยู่ข้างบน แผ่นออสเตรเลียนอยู่ใต้เรา ทีนี้ประเด็นคือว่า บางทีเวลามันระเบิดหรือว่าไถลตัว ถ้าเผื่อมันไถลแค่บริเวณเล็กๆ ขอบรอยต่อนี่มันยาวมากเลยเป็นพันๆกิโลเมตร ถ้าเผื่อว่ามันเกิดไถลหรือระเบิดตรงส่วนเล็กๆ มันก็จะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่ถ้าเผื่อแถวๆนั้นหินมันถูกอัดมานาน แล้วก็มันมีแรงเฉือนหรือแรงอะไรอยู่ข้างในเยอะ พอมันระเบิดจุดหนึ่งมันระเบิดต่อกัน มันก็คล้ายๆกับว่ามันระเบิดต่อเนื่องกัน เป็นห่วง มันจะกลายเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 8.9 นี่มันต้องคุมพื้นที่เป็นร้อยๆกิโลเมตร ไม่ใช่จุดเดียว
คำนูณ – แล้วรอยซ้อนรอยเสียบกับแนวที่ในพม่านี่มันแนวเดียวกันหรือเปล่าครับ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – มันมีแนวรอยเลื่อนที่ผ่านกลางพม่า และให้กำเนิดแผ่นดินไหวมากๆ แนวนั้นนี่เป้นรอยแตกภายในเปลือกยูโรเชียน คืออยู่ที่เปลือกบน แต่ว่าเป็นรอยแตกข้างใน แต่ว่าในสุมาตรามันเป็นรอยต่อทวีป รอยต่อเปลือกโลก มันมีหลายแบบ แผ่นดินไหวเกิดตามรอยต่อก็มี เกิดในเปลือกก็มี ตามรอยร้าวที่เราเรียกว่ารอยเลื่อน ภาคเหนือเราก็มีพวกรอยเลื่อนพวกนี้ ก็อาจจะเกิดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรอยต่อ
สโรชา – รอยเลื่อนนี่คือจะเกิดครั้งเล็กหน่อยไหมคะ เมื่อเทียบกับ 2 แผ่นมา
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – รอยเลื่อนใหญ่ๆก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ รอยเลื่อนใหญ่แล้วยาวๆ แต่ว่ารอยเลื่อนที่เรามีอยู่ในภาคเหนือก็ไม่ถึงขนาดนี้ มันอาจจะเกิดได้ซัก 7 ริกเตอร์ ซึ่งมันก็ทำความเสียหายได้มาก เพียงแต่ว่าเรายังไม่เจอ แต่ครั้งนี้เราเจอ Tsunami
คำนูณ – ครั้งแรกในประเทศไทยหรือเปล่าครับ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมคิดว่าเป็นครั้งแรกในช่วงชีวิตเรา ก่อนหน้านี้ในอดีตอาจจะเคยเกิดขึ้นมา แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันคือ Tsunami ไม่ได้มีบันทึกไว้ เท่าที่บันทึกที่เรามีมันไม่มีจดไว้ว่าเกิด
สำราญ – แล้ว Tsunami มันเกิดได้ยังไงครับ หลังจากที่มันเสียบกันแล้ว
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือถ้าเผื่อว่าตอนที่มันเกิดการไถลตัวหรือว่าการเคลื่อนตัวแบบฉับพลัน มันอาจจะทำให้แผ่นพื้นฝั่งหนึ่งกระดกขึ้นมา ทำให้พื้นทะเลซึ่งแต่เดิมมันมีระดับหนึ่ง ฝั่งหนึ่งมันอาจจะถูกยกขึ้นโดยฉับพลัน
คำนูณ – คล้ายๆว่าเกิดอะไรที่พื้น มันก็ทำให้น้ำมันกระฉอก
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – พอพื้นมันถูกบีบตัง ปริมาตรน้ำนี่มันถูกพื้นดินดันขึ้นมากระทันหัน มันก็เกิดเป้นคลื่นขนาดใหญ่ขึ้นมา ทีนี้พอเกิดแผ่นดินไหว แรงคลื่นที่มันสะเทือนผ่านเปลือกโลก มันจะมาถึงพวกเราก่อน เพราะมันวิ่งผ่านหินด้วยอัตราเร็วประมาณ 3-4 กิโลเมตร/วินาที เพราะฉะนั้นมันใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึงนาทีนึงก็มาถึงแถวนี้ ภาคใต้ กรุงเทพฯนี่มาถึงได้ จะรู้สึกได้ทันที ทีนี้ตอนที่มันสร้าง ในขณะเดียวกัน มันก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นน้ำที่เราเรียกว่า Tsunami นี่นะครับ ตัวนี้มันจะวิ่งช้ากว่าเยอะ มันจะวิ่งที่เข้าใจก็ถูกแล้วนะครับ มันจะวิ่งประมาณซัก 300-800 กม./ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความลึกของมหาสมุทรนะครับ ถ้าลึกมันก็จะแปรเปลี่ยนไปตามนั้น
ทีนี้เราไม่รู้ว่ามันวิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นจากตำแหน่งของมันมาถึงภูเก็ตนี่ มันใช้เวลา ระยะห่างมันหลาย 100 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นมันจะใช้เวลาอาจจะถึงชั่วโมงหนึ่ง เท่าที่ฟังจากข่าวผมคิดว่ามันก็น่าจะมาถึงประมาณนั้น เพราะว่ามันจะมาถึงช้ากว่าครั้งแรกที่คนภูเก็ตตื่นตกใจ ซักประมาณชั่วโมง เพียงแต่ว่าเราไม่เคยคิดมาก่อนว่า มันจะเกิดคลื่นได้สูงขนาดนั้น เราเลยยังไม่ได้เตรียมการ
สโรชา – สรุปแล้วที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดจากการที่ผิวโลกกระดก หรือมันเกิดขึ้นจากคลื่นใต้น้ำที่ก่อตัว และก็มาสร้างเป็นคลื่นใหญ่
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือการเกิดแผ่นดินไหวนี่มันทำให้เปลือกโลกมันเปลี่ยนรูป มันขยับตัว การที่ทำให้เปลือกโลกมันเปลี่ยนรูปนี่ มันจะไปทำให้น้ำทะเลก่อตัวเป็นคลื่น แผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่น คลื่นวิ่งมาถึงฝั่งมันถึงเกิดเป็นคลื่นยักษ์ ตอนที่มันวิ่งในทะเลลึกระดับยอดคลื่นมันต่ำมาก อาจจะเมตรนึงหรือว่าเมตรกว่าๆเอง แต่ความยาวของคลื่นมันจะยาวมาก อาจจะเป็นถึง 100 กิโลเมตร
แต่พอมันมาถึงฝั่ง ท้องทะเลมันจะตื้นขึ้นมา พอมันตื้นขึ้นมาคลื่นยาวๆมันจะถูกอัดเข้ามาและเปลี่ยนรูปกลายเป็นคลื่นสูงแทน พอมันกลายเป็นคลื่นสูงมันก็จะซัดเข้ามาได้ลึก แล้วก็แรง มันก็เลยเป็นสาเหตุ ถ้าเราอยู่ในทะเลลึก เราก็ไม่เจอผลของ Tsunami แต่พอมันมาถึงขอบชายฝั่งที่มันตื้น มันก็จะก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ได้ ทีนี้มันไม่ใช่ว่าทุกๆแนวชายฝั่งมันจะเป็นอย่างนี้หมด มันขึ้นอยู่กับรูปร่างของแอ่ง
สำราญ – ตอนที่มันเกิดใหม่ๆนี่น้ำมันร้อนไหมครับ อาจารย์
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ไม่ครับ ก็อุณหภูมิธรรมดา
สโรชา – อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ เราจะไม่สามารถเห็นมาแต่ไกลเลยหรือ ว่ามีคลื่นยักษ์กำลังมาถึงฝั่ง
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ยกเว้นแต่ว่ามันมาถึงใกล้ๆฝั่งแล้ว มันถึงจะเปลี่ยนรูป มันถึงจะยกตัวขึ้นมา ถ้าเผื่อเราอยู่ห่างฝั่งไปไกลๆ เรามองไม่เห็นหรอก
สำราญ – ทำไมผมฟังมาจากวิทยุ เขาบอกว่า ก่อนที่คลื่นจะมา เขาบอกว่าหาดมันร่วงลึกลงไป
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – อันนั้นคือขั้นตอนของการเปลี่ยนรูป มันจะดึงกลับมา และก็ม้วนขึ้นมาเป็นคลื่นสูง แต่ทีนี้ผมว่าได้ถามถึงประเด็นสำคัญมากๆอันหนึ่ง ว่าทำไมเราเตือนกันก่อนไม่ได้
สโรชา – คือมันแรงกว่ามาตรฐาน แรงขนาดที่จะก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ได้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ตอนเช้าผมก็ตามข่าวนะ แต่ผมคิดว่าข่าวมันสับสนมากเลย คือของเรานี่ เรามีสถานีวัดที่ค่อนข้างจำกัด แล้วเราก็พึ่งยูเอสจีโอริโคเซอร์เวย์ เขารายงานแผ่นดินไหว ครั้งแรกนะครับ 8.1 ริกเตอร์ โดยตำแหน่งมันอยู่ในทะเล ในขณะเดียวกันสถานีเครือข่ายวัดของอินโดนีเซีย เขาบอกว่ามันเป็น 6.4 ริกเตอร์อยู่บนบก ก็สับสนมากนะครับ การที่จะบอกว่าตำแหน่งมันอยู่ไหน ละติจูด ขนาดมันเท่าไหร่ เอาแบบให้ชัดๆนี่นะครับ มันต้องใช้ระบบเครือข่ายสถานีวัดที่ดีพอสมควร ทีนี้สำหรับกรมอุตุนิยมวิทยา เขามีงบประมาณที่จำกัด แล้วผมเข้าใจว่าเขาทำดีที่สุด ภายใต้งบประมาณจำกัดนั้น เขาเอาสถานีวัดไปไว้ทางภาคเหนือเสียเยอะ ทีนี้ภาคเหนือมันเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางในประเทศบ่อย เขาก็ต้องวัดตรงนั้น มันค่อนข้างจะสมเหตุสมผลอยู่ เราไม่เคยเจอ Tsunami
แต่ว่าสถานีวัดแบบอัตโนมัติ แบบเร็วๆนี่ ที่จะประเมินขนาดแผ่นดินไหวได้เร็วๆ เขามีอยู่แค่สถานีหรือสองสถานีในภาคใต้ เพราะฉะนั้นการที่จะคำนวณละติจูดขนาดได้เป๊ะๆ ตำแหน่งที่แม่นยำมันค่อนข้างยาก ถ้าเขามีลบประมาณมากกว่านี้ เขาอาจจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เท่าที่ตอนนี้เขามีอยู่ ระบบของเขาไม่ดีพอที่จะกำหนดตำแหน่งแล้วก็บอกขนาดแบบมั่นใจได้ แต่ทีนี้ถ้าถามว่า ทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม มันเป็นไปได้ คืออย่างนี้ สถานีเครือข่ายของเรา สมมุติว่าเราบอกว่า พรุ่งนี้เราต้องการทำให้ดีกว่านี้ ตอนนี้มันเกิดภัยพิบัติ สิ่งแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ โยงเครือข่ายของเรากับของต่างประเทศ รอบๆนี่นะครับ คือต้องตกลงกัน เราจะใช้ประโยชน์จากสถานีวัดเขาได้
สโรชา – คือถ้าอินโดนีเซียบอกตั้งแต่แรกเลยว่า มันคือ 8.9 นะ ประเทศรอบๆที่อยู่ในรัศมีเสี่ยงภัย ก็ควรจะได้รับทราบและเตรียมภัยล่วงหน้าได้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมคิดว่าอินโดนีเซียเองก็ไม่รู้ เพราะว่าระบบเขาตอนที่เรารายงานออกมาตอนแรกๆที่ผมตามข่าว เขาบอกว่า 6.4 และอยู่บนดิน อันนั้นผมก็สงสัยอยู่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ในขณะที่รายงานของยูเอสจีโอริโคเซอร์เวย์ ที่รายงานบนเว็บไซด์นี่มันบอกว่า 8.1 อยู่ในทะเล มันก็เกิดความสับสนกันตรงนี้ เพราะว่าทางฝั่งยูเอสจีโอริโคเซอร์เวย์ เขามีเครือข่ายที่ใหญ่กว่า และก็กระจายคลุมพื้นที่เกือบทั่วโลกนะครับ แล้งเขาวัดคลื่นในหลังรูปแบบได้มากกว่า เราถึงเชื่อมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันรายงานมันค่อนข้างสับสน ของเราเองนี่ก็มีข้อจำกัดเยอะทางภาคใต้ เราก็เลยเจอสถานการณ์ค่อนข้างที่จะลำบาก ครั้งนี้ก็คงจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่ง ถ้าเราเอาบทเรียนครั้งนี้มาเรียนรู้ได้ แล้วมาปรับปรุงตัวเอง มาทำให้มันดีขึ้นได้ ก็ถือว่ามันเป็นเรื่องดี
สโรชา – คุณอมรภัทรมีภาพใช่ไหมคะ ว่าการก่อตัวและก็การที่เกิดขึ้นของคลื่นยักษ์นี่เป็นอย่างไร
สำราญ – เป็นภาพเมื่อไหร่ครับ คุณอมรภัทร อธิบายถึงอะไรครับ
อมรภัทร – นี่ก็คงอธิบายถึงที่ รศ.ดร. เป็นหนึ่ง ได้พูดไป นี่ถ้าเกิดอยู่กลางทะเลใช่ไหมครับ แล้วถ้าเกิดว่าเข้ามาในฝั่ง ถ้าเจออ่าวก็จะหนักหน่อย คือคลื่นปกติเมื่อใกล้ชายฝั่ง มันก็จะถี่ขึ้น ที่เราดูส่วนใหญ่จากสารคดี จะเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เกิดบ่อยหน่อย อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องเปลือกโลก เพรานั้นแต่ละครั้งที่เกิดจะเข้าฝั่งเขาเร็ว ชื่อก็เลยเป็นชื่อของเขาที่เป็น Tsunami แปลว่า ฮาเบอร์ เวฟ ก็เป็นคลื่นที่อยู่ในอ่าวน่ะครับ
ทีนี้ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดที่ญี่ปุ่นอย่างเดียว อย่างในสารคดีนี่ก็บอกว่า มันเคยเกิดที่อย่างอลาสกา ซึ่งเกิดอยู่ห่างจากฝั่งซัก 200 –300 กม. แล้วก็ภายใน 20-30 นาที มันก็มีคลื่นเข้าไปกระทบที่ฝั่งและก็กวาดคนลงไป แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งที่เป็นมุมของแถวๆฮาวาย มันก็จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 600 ไมล์/ชั่วโมง ซึ่งก็ซัก 3-4 ชั่วโมงก็ถึง เพราะฉะนั้นในกรณีของอลาสกาก็เตือนไม่ทัน แต่ในกรณีของฮาวายเขาก็จะรับรู้ก่อนว่า โอเค เกิดปัญหาขึ้นแล้วนะ เขาก็จะต้องเตือนคนของเขาว่าควรจะทำยังไงบ้าง
สำราญ – ในประวัติศาสตร์นี่ Tsunami ครั้งไหนที่แรงที่สุดครับ
อมรภัทร – คือผมจำปีไม่ได้นะครับ แต่มีอยู่อันนึงที่หนักหน่อย ก็คือเคสที่เกิดที่ชิลี มันเกิดรู้สึกว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ แถวชิลีนะครับ แล้วก็คลื่นนี่ก็จะวิ่งไปถึงญี่ปุ่น มันเดินทางได้เป็นพันๆกิโลเมตร มันสามารถข้ามอ่าวไปได้
สโรชา – มันไม่อ่อนแรงลงเลยหรือคะ คลื่นที่มันไปจากที่นึง มันสามารถจะเดินทางไปได้เป็นพันๆกิโลเมตร เพื่อที่จะไปขึ้นฝั่งในอีกทีหนึ่ง หมายความว่าในระหว่างที่มันเดินทาง คลื่นความแรงการสั่นสะเทือนมันไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือคลื่น Tsunami มันมีความยาวเป็นพิเศษ ลักษณะคลื่นยาวของมันจะสามารถเก็บพลังงานไว้ได้ค่อนข้างดี มันไม่ค่อยกระจายพลังงานเท่าไหร่ ถ้าความยาวคลื่นสั้นมันจะถูกดูดในแต่ละครั้ง คือการเสียพลังงานจะขึ้นอยู่กับระยะความยาว/ความยาวคลื่นของมัน เพราะฉะนั้นยิ่งคลื่นยาวเท่าไหร่ มันจะยิ่งเสียพลังงานน้อยนะครับ
อมรภัทร – มีเมืองๆหนึ่งในญี่ปุ่น เขาเคยเจอ Tsunami มาครั้งหนึ่ง เขาเลยมีการสร้างกำแพงล้อมรอบจังหวัดของเขา ก็จะมีประตูเหล็กเข้าออกเมืองอีกต่างหาก สำหรับป้องกัน แต่หลังจากที่เขาสร้าง เขายังไม่เจอ Tsunami อีกเลย แต่เขาก็บอกว่า จริงๆก็กั้นได้แค่ 10 เมตร ถ้าเกิด Tsunami มาซัก 30 เมตร นี่ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน
สโรชา – พูดถึงความสูงของคลื่นยักษ์ที่ว่านี่ ตอนแรกบอกว่าประเทศไทยจะเจอคลื่นยักษ์ไมได้ เพราะว่าเราแค่ 8-10 เมตร จริงๆความสูงของคลื่นยักษ์มันอยู่ระหว่างเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่คะ
อมรภัทร – มีตั้งแต่ 10 – 30 เมตร หรืออาจจะมากกว่านั้นนะครับ แต่โดยปกติแล้ว เราไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลแล้ว จะเกิดอะไร คือคลื่นจะสูงขนาดไหน แล้วแต่ไม่ได้เลย
คำนูณ – แล้วตกลงว่าที่เกิดขึ้นนี่เรียกว่า Tsunami หรือเปล่าครับ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – อันนี้ของแท้
สำราญ – เพราะฉะนั้นนิยามของ Tsunami นี่ รศ.ดร. เป็นหนึ่ง คิดว่าอยู่ตรงไหนอย่างไร
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คลื่นขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่เขาแบ่งคลื่น Tsunami เป็นหลายระดับเหมือนกัน จากอ่อนไปถึงแรง ของเราอาจจะไม่ใช่สุดสเกล แล้วเราก็ไม่ได้แบบอ่อนสุดด้วย เขาจะแบ่งเป็นขั้นๆประมาณซัก 4 ขั้น ต่ำสุดผมคิดว่า 2-3 เมตรก็เรียกว่า Tsunami ถ้าเกิดว่ากลไกเกิดจากแผ่นดินไหว แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรนัก แต่เราพูดได้ว่านี่คือ Tsunami เพียงแต่ว่าปกติมันไม่ได้เกิดในมหาสมุทรนี้ มันเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเยอะ เพราะตรงนั้นมีแผ่นดินไหวเยอะขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้มันเกิดในทะเลอันดามัน มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่
อมรภัทร – ในสารคดีที่ผมทำหลายเรื่องด้วยกัน อย่างเช่นว่า ถ้าเกิดว่าจะให้เรามาเดากันว่าเกิด Tsunami แล้วจริงหรือเปล่านี่ ถ้าอยู่บนเครื่องบินบินไปก็มองไม่เห็น เพราะว่าคลื่นมันจะสูงอย่างที่อาจารย์บอกคือสูงไม่เกินฟุตหนึ่ง ประมาณนั้นเอง แต่ถ้าพอมันเข้าฝั่งมันจะถี่มากขึ้น
สโรชา – นั่นคือความอันตรายของมันใช่ไหมคะ คือไม่สามารถที่จะรู้ล่วงได้ จนกระทั่งมันประชิด
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – รู้ได้ คือมันมีระบบวัดเครื่องนะครับ ที่สามารถแยกได้ว่า คลื่นนี้เป็นคลื่น Tsunami หรือว่าคลื่นเนื่องจากลมธรรมดา เราแยกได้แต่ว่าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ คือมีระบบวัดและแยก จำแนกคลื่นอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก คือต้องจัดระบบเตือนภัยนี้ดีๆ
สำราญ – ระดับน้ำ สมมุติว่าจุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวนี่ มันลึกซักเท่าไหร่ครับ ในมหาสมุทรนี่
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมคิดว่าอาจจะเป็นกิโลเมตรครับ แต่ว่าเท่าไหร่นี่ก็บอกไม่ได้แน่ๆ
สโรชา – สรุปแล้วที่เกิดใต้น้ำกับบนดินนี่อะไรรุนแรงกว่า
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ถ้าขนาด 8.9 ริกเตอร์เกิดบนดินอาจจะมีเมืองพังหลายๆเมือง เพราะว่ามันจะคลุมพื้นที่นับตามความยาวหลาย 100 กิโลเมตร และก็ความแรงกว้างอาจจะประมาณหลาย 10 กิโลเมตร เกิดใต้น้ำนี่ดีกว่าเกิดบนดินเยอะ แต่เนื่องจากแนวที่เกิดแผ่นดินไหวหลายแนวมันอยู่ใต้น้ำ ก็ถือว่าเป็นโชคดี แต่ว่าหลายแนวที่มันแอคทีฟ ที่มันเกิดอยู่เรื่อยๆ อย่างใหญ่นี่มันเกิดใต้น้ำ ผลเสียมากที่สุดของมันก็คือ Tsunami ตัวนี้
สโรชา – มีข่าวนิดนึงค่ะ พรุ่งนี้ทาง TT&T จะตั้งเต็นท์ให้ผู้ประสบภัยได้สามารถโทรฟรีทั้งในและต่างประเทศ ก็เป็นความช่วยเหลือจากทาง TT&T เขา สรุปแล้วที่เกิดขึ้นทั้งอินเดียและที่พม่านี้ มันเป้นผลกระทบจากที่สุมาตราหรือเปล่าคะ อาจารย์
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – เท่าที่ผมฟังข่าว เป็นเหตุการณ์เดียวกันหมดครับ คือเกิดจากแผ่นดินไหวตัวนี้ มันเกิดแล้วมันทำให้เกิดคลื่น คลื่นก็กระจายเป็นวงไปถึงฝั่งตรงไหนก็เกิดปัญหาที่นั่น เพียงแต่ว่าแนวชายฝั่งบางชายฝั่งอาจจะไม่ทำให้คลื่นม้วนตัวเป็นขนาดยักษ์ มันขึ้นอยู่กับรูปร่างของแนวชายฝั่งด้วย
สโรชา – ตอนช่วงแรกที่บอกว่า ทางสหรัฐเขามีเครือข่าย และมีเครื่องตรวจวัดแรงใช่ไหมคะ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือมันมีเครือข่ายในมหาสมุทรแปซิฟิกนะครับ ไม่ใช่ในอันดามัน
สโรชา – อย่างนี้ในสหรัฐเองก็คงจะไม่ทราบเหมือนกัน ว่ามันจะเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นได้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – เครือข่ายของเขาก็ตรวจจับแผ่นดินไหวเราได้ แล้วเขาก็คาดว่าจะเกิด Tsunami ด้วย ถ้าเราดูเข้าไปในเว็บไซด์ของเขา เขาก็เช็กของเราเหมือนกัน เพียงแต่เราอาจจะมีไม่กี่คนที่รู้เรื่องนี้ คือของเขานี่ส่วนใหญ่เขาเล็งที่ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะตรงนั้นเกิดขนาดใหญ่เยอะ แล้วก็เกิด Tsunami บ่อย ทีนี้อันดามันของเรานี่ก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่เรารู้กันในสมัยปัจจุบันนะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้มีการเตรียมการ
อยากจะบอกนิดนึงว่า เราสามารถทำได้ดีกว่าที่เราทำอยู่ตอนนี้ ถ้าเราใส่ใจมันหน่อย เราสามารถปรับปรุงระบบสถานีวัดให้ดีกว่านี้ได้ ถ้าเราใส่ความรู้เข้าไป เทคโนโลยีมีพร้อมแล้ว เราสามารถโยงกับเครือข่ายสถานีวัดต่างประเทศได้ แล้วจะทำให้เราสามารถบอกได้ว่า แผ่นดินไหวในทะเลนี่ใหญ่เท่าไหร่ รู้ได้เร็วกว่านี้ในปัจจุบัน ถ้าเราตกลงกับต่างประเทศรอบๆได้
แล้วเราอาจจะต้องเพิ่ม แทนที่เราจะประกาศเตือนธรรมดาๆ เราต้องโยงกับตัวระบบการแจ้งเตือนภัย ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เช่นการแจ้งไปที่ชายฝั่ง แล้วก็มีการฝึกซ้อม รู้ว่ามีการแจ้งมาอย่างนี้แล้วจะต้องทำอย่างไร จะต้องมีระบบนี้ ระบบเอาข้อมูลนี่ไปใช้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรู้ว่าต้องทำยังไง และก็ให้ประชาชนเขารู้ด้วย คราวนี้เป็นเพราะว่าเราไม่มีการเตรียมพร้อมเลย
สโรชา – อาจารย์บอกว่า นอกจากตัวคลื่นยักษ์แล้ว ก็ยังมีภัยแบบอื่นที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวได้อีก ที่เราอาจจะไม่ได้นึกไปถึงก็ได้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ไม่ใช่ว่าไม่ได้นึกไปถึง เพียงแต่ว่า ตอนนี้ผมก็ทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยหลายๆที่ แล้วเราก็ได้ตรวจสอบความเป็นไปได้ของภัยแผ่นดินไหวรูปแบบอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะ Tsunami ซึ่งความจริงอยู่นอกสายตาด้วยซ้ำ แต่มันมีภัยแผ่นดินไหวในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่ายังไม่เกิดเท่านั้นเอง เช่นภาคเหนือ เราอาจจะเกิดแผ่นดินไหวระดับกลาง ไม่ใหญ่มาก 5 ปลายๆ – 6 เบื้องต้น พวกนี้เกิดอยู่แล้ว แต่ว่ามันยังไม่เกิดตรงเมือง พวกนี้รัศมีการทำลายจะเล็กและสั้น ไม่เหมือน 8.9 ริกเตอร์ อันนี้รัศมีการทำลายเป็นร้อยๆกิโลเมตร พวก 6 ริกเตอร์มันรัศมีการทำลายอยู่ในออเดอร์ ประมาณ 10 กิโลเมตรกว่าถึง 20 กิโลเมตร
ถ้ามันไม่เกิดตรงเชียงใหม่ เชียงราย เราก็คงนึกว่ามันไม่เป็นอันตราย จริงๆมันเกิดได้ เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่มันจะเกิดเท่านั้นเอง ทีนี้เราจะไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ ตอนนี้เรามีกฎหมายที่บังคับให้วิศวกรต้องออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในภาคเหนือแล้ว แต่ถ้าเกิดเรามีเช็กดูจริงๆ การบังคับใช้กฎหมายนี้มีปัญหาเยอะ ผมก็ไม่คิดว่าอาคารในภาคเหนือมันทนได้
สำราญ – 5-6 ริกเตอร์ที่ว่านี่ ถ้าเราออกแบบตึกภายใต้ที่เราคิด แบบป้องกันไปด้วย ต้านอยู่ไหม
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – อยู่ครับ ทนได้ เพียงแต่ว่าเราตอนนี้ไม่ทำ หรือทำได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะทำ เรายังไม่เห็นความสำคัญ เราอาจต้องรอให้เหมือน Tsunami ก่อน
คำนูณ – ต้องตายกันเสียก่อน
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – เพราะนั้นที่เราพยายามผลักดันก็คือ เราพยายามขอให้มีการล้อมคอกก่อนวัวหาย อันนี้แบบนึง ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลนี่ อันนี้อีกแบบหนึ่ง อันนี้ไม่มีแผ่นดินไหวที่จะเกิดใกล้ๆได้ แต่อาจจะมีผลต่อแผ่นดินไหวระยะไกล ส่งมาถึงได้ ถ้าดูสังเกตข่าวอย่างวันนี้นะ เกิดที่สุมาตรา จังหวัดภาคใต้รู้กันนะครับ แต่ขึ้นมาตอนบนแทบจะไม่มีรายงาน มาตกใจจริงๆตรงแถวกรุงเทพฯที่มีตึกสูงเยอะๆ อันนั้นเป็นเพราะว่า พื้นที่ กทม. และปริมณฑลมันมีชั้นดินอ่อน หนาเป็น 10 เมตร อันนี้ขยายความแรงขึ้นเป็น 3-4 เท่า อันนี้ปัจจัยแรก
ปัจจัยที่สองคือมันมีตึกสูงเยอะ ตึกสูงที่มีจังหวะโยกตัวเข้ากับจังหวะการส่ายตัวของดิน การสั่นสะเทือนของดิน พอจังหวะเข้ากัน มันจะยิ่งขยายขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง คือมีการขยาย 2 ต่อในชั้นดินครั้งนึง ตึกสูงอีกครั้งนึง เพราะนั้นคนที่อยู่ในตึกสูงใน กทม. วันนี้ เช้านี้ หลายๆคนก็ตกใจ เพราะมันแรงกว่าครั้งที่แล้ว เมื่อปีที่แล้วมากพอสมควร และมันนานด้วย เพราะเป็นแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์มันก็สั่นนาน หลายคนบอกว่าอาจจะรู้สึกถึง 5 นาทีหรือมากกว่า
สโรชา – บ้านชั้นสองชั้น กับคนที่อยู่คอนโดนี่ คนที่อยู่คอนโดจะรู้สึกมากกว่า
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – มากกว่าครับ แน่นอน ทีนี้ราบอกได้ชัดกว่านั้นอีกนะครับ ว่าตึกไหนจะสั่นมากกว่าตึกไหน เพราะตอนนี้เรามีข้อมูลค่อนข้างชัดพอสมควรแล้วว่า ตึกแต่ละตึกมันจะสั่นด้วยจังหวัดเท่าไหร่ แล้วเรารู้ว่าพื้นดินสั่นเท่าไหร่ ตอนนี้พอบอกได้ชัดเจน ทีนี้ประเด็นก็คือว่า มันมีโอกาสที่จะสั่นแรงกว่าที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ใน กทม. นะ แผ่นดินไหวที่ขนาดเล็กกว่า 8.9 แต่ใกล้กว่าเช่น ตอนนี้ 8.9 แต่ห่างไปกว่าพันกิโลเมตร แต่ถ้าเราเจอตัวเล็กกว่า 7 ริกเตอร์ที่กาญจนบุรี ห่าง 200 กิโลเมตร แรงงกว่าเมื่อเช้านี้หลายเท่าตัว ระยะห่างนี่สำคัญ
สโรชา – ถ้าเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ ความเสียหายใน กทม. มันจะวาดภาพได้ไหมคะ
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ปัญหาอยู่ตรงนี้ว่า เรายังคำนวณไม่ถูก ตอนนี้ทีมงานผมกำลังทำงานวิจัยอยู่ว่า อาคารที่ กทม. ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ออกแบบต้านทานแผ่นดินไหว จริงๆแล้วมันทนได้แค่ไหน ตอนนี้มันมีอาคารหลายรูปแบบเหลือเกิน เรากำลังเช็กเรื่องพวกนี้อยู่ แต่เราคิดว่า ถ้าเกิดกรณีแบบรุนแรงจริงๆ ก็คงมีอาคารหลายหลังทนไม่ได้ ก็อาจจะถล่มลงมา
สำราญ – เขาใส่อะไรเข้าไปถึงป้องกันแผ่นดินไหว มันมีเคล็ดลับยังไง
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ไม่มีเคล็ดลับครับ อันนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งลึกลับ เราเพียงแต่มีระบบโครงสร้างที่ดี บางอาคารระบบโครงสร้างออกแบบรับแรงอย่างเดียว บางทีรูปร่างอาจจะออกมาแย่ก็ได้ แต่ถ้าบอกให้ดุเรื่องแรงแผ่นดินไหวว่ามันโยกตัวได้ดีไหม โครงสร้างบางอย่างเขาอาจจะต้องปรับให้รูปร่างดีขึ้น ตัวโครง ตัวกระดูกมัน หรือบางทีการเสริมเหล็ก ส่วนใหญ่เป็นอาคารคอนกรีต การเสริมเหล็กในจุดสำคัญ เช่นเราต่อเสาคานนี่ เขาต้องเสริมนิดๆหน่อยๆ ไม่ได้มากขนาดนั้น แต่ใส่แล้วเราสบายใจ
ประเด็นคือว่าเรากำลังร่างกฎหมายข้อนั้นอยู่ แต่มันค่อนข้างช้าเหมือนกัน การที่จะให้ยอมรับแล้วก็ทำกัน อย่างนี้คงอีกยาว แต่ว่าในกรณีของลักษณะนี้ผมว่า อาจจะง่ายกว่า เพราะตอนนี้คนเห็นผลของมันแล้ว ก็เรียกว่าไม่ต้องพูดมาก แต่กรณีอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้น ตอนนี้โอกาสจะเกิด มันยังไม่ถึงคิวน่ะ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าเราจะเตรียมพร้อมล้อมคอกก่อนหัวหายได้หรือเปล่า
สโรชา – น้อยครั้งเหลือเกินทีเราจะล้อมคอกได้ก่อน
คำนูณ – อันนี้เป็นนิสัยประจำชาติ ต้องให้เกิดเหตุก่อน
สโรชา – ผู้ชมจากระยองถามว่า ตอนเช้าแผ่นดินไหวรู้สึกไปถึงระยองด้วย ถามว่าจะมีโอกาสเป็นอย่างภาคใต้หรือไม่ เพราะบ้านอยู่ติดหาด
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมคิดว่าโอกาสน้อย คิดว่าไม่น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ตอนนี้ จากข้อมูลที่มีอยู่
สโรชา – ถึงแม้ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทย ลงใต้ไปหน่อย ในช่วงของมาเลเซียหมู่เกาะแถวๆนั้น
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือจะเกิด Tsunami ได้ ต้องเป็นแผ่นดินไว้ โดยทั่วไปต้องละติจูดขนาดเกินกว่า 8 ริกเตอร์ บางกรณีเท่านั้นที่ต่ำกว่า 8 ริกเตอร์ มันถึงจะเกิด Tsunami ที่รุนแรง น้อยครั้ง แต่ต้อง 8 ริกเตอร์ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันมักจะเกิดตามแนวรอยต่อเปลือกโลก ถ้าเป็นพวกรอยเลื่อนรอยแตกในเปลือกโลกเอง ต้องเป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่มากๆ เราหาแบบนั้นไม่ค่อยได้ เราเจอลอยเลื่อนเดียวคือในพม่า นั่นเป็นรอยเลื่อนใหญ่ แต่อันนั้นใหญ่ที่สุดก็คือที่มันพาดมาได้แค่ 6 ริกเตอร์ แต่บนบกได้ประมาณ 8 ริกเตอร์
สโรชา – ผู้ชมทางบ้านถามว่า ทำไมสื่อไม่เสนอว่า ผู้บาดเจ็บต้องทำอย่างไร จะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร สมมุติว่ามีเหตุเตือนภัย ระบบเราใช้ได้แล้ว แล้วเราสามารถที่จะทราบได้ว่า อย่างอินโดนีเซียเกิด 8.9 มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นยักษ์ทางฝั่งทะเลอันดามัน ผู้ที่อยู่ในบริเวณเหล่านั้นควรจะทำตัวอย่างไร จะทำอย่างไรบ้างเพื่อที่จะไม่ประสบกับปัญหานี้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้ได้ตรงหรือเปล่า แต่ขณะนี้ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐหลายๆหน่วยก็ยกกำลังเข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ ตอนนี้รู้สึกว่าเขาจะเป็นห่วงเรื่อง After Shock คือแผ่นดินไหวในการเกิดจริงๆ เกิดลูกใหญ่ๆ มันไม่ใช่เกิดเป็นโดดๆนะ ในบางครั้งมันจะเกิดเป็นแผ่นดินไหวนำหน้าตัวเล็กๆ แล้วก็ตัวใหญ่ แล้วก็มีลูกๆตามมาอีก ตัวใหญ่ที่สุดเราเรียกว่า Main Shock ตัว 8.9 ผมแน่ใจว่ามันเป็น 1 Shock เพราะว่า 8.9 นี่ไม่ได้เกิดง่ายๆ มันคงไม่มีตัวใหญ่กว่านี้ในบริเวณนี้ ถ้าเผื่อมีก็เป็นสถิติโลกตัวใหม่ ตอนนี้ก็เป็นสถิติโลกแล้ว ทีนี้เวลาเราเกิดแผ่นดินไหวตัวใหญ่ๆ มันจะมีตัวเล็กๆตามมา ตัวเล็กกว่า อย่าง 8.9 นี่มันอาจจะมี After Shock อย่าง 7 หรือ 6 ตามมา แต่ 7 หรือ 6 นี่มันไม่สามารถทำให้เกิด Tsunami ขึ้นมาได้ 7 นี่เกิดในทะเลนี่ก็ไม่มีปัญหา ยกเว้นกรณีพิเศษจริงๆกรณีอย่างนี้คงเป็นไปไม่ได้ แต่ทีนี้ถ้ามันมีแบบ 8 ริกเตอร์ ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่ว่ายากมาก กรณีอย่างนั้นต่อให้เกิด 8 ริกเตอร์เราก็จะรู้สึกก่อน คือตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราพร้อมไหม ถ้ามันเกิด 8 ริกเตอร์จริงที่ภูเก็ตจะรู้ถึงการสั่นสะเทือนก่อน ถึงตอนนั้นค่อยหนีก็ได้ เพราะมันอีกซักพักกว่ามันจะมาถึง
สโรชา – อย่างนี้ต้องหนีไปอยู่ในบริเวณที่สูงถูกไหมคะ ต้องไปอยู่ในเขาหรือว่า คือตอนนี้บนเขา เขาอพยพคนจากบนหาดไปอยู่ในบริเวณที่สูงกว่าแล้ว อันนั้นเป็นอย่างเดียวที่ทำได้เลยใช่ไหม
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – คือวิธีการที่หนีนี่ ก็คือถ้าสมมุติมีพื้นที่สูงกว่า 30 เมตรเราก็ควรจะขึ้นไปอยู่ตรงนั้น ก็คือเท่าที่ Tsunami จะสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในอีกกรณีหนึ่งก็คือถ้าเราอยู่ตึกที่สูงหลายๆชั้น เราอาจจะต้อง คือไม่ควรอยู่ที่ชั้น 1-3 ควรจะต้องขึ้นไปสูงกว่านั้น แล้วก็อยู่บนตึกนั้นได้ แต่ถ้าต่ำกว่า 3 ชั้นแล้วนั้นก็ควรหาที่อื่นเพื่อที่จะหลบนะครับ
ทีนี้ในกรณีของเรือ เรือใหญ่นี่คงไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ต้องทำอย่างเรือโดยสารลำใหญ่ๆ ที่เป็นเรือท่องเที่ยว ก็ควรจะไปจอดหรือทอดสมรอยู่นอกฝั่งไกล เพราะว่าข้างนอกนี่คลื่นจะไม่สูงนัก ส่วนเรือเล็กๆนี่ก็ไม่ควรอยู่ในฝั่ง ก็ควรจะออกไปข้างนอกเหมือนกัน ก็ออกไปพอประมาณที่คลื่นจะไม่สูงจนเกินไปนัก
สโรชา – แล้วที่ทางอเมริกาเขาวัดได้นี่ เขามีการเตือนมาบ้างไหมว่ามันอาจจะเกิด หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด เมื่อเช้านี้
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – เขาก็มีข้อมูลในเว็บไซด์ ก็เป็นข้อมูลรายงานตามปกติขององค์กร อย่างเช่น ยูเอสจีเอสนี่ กรมอุตุเขาก็ต้องดูตรงนี้ด้วย ประกอบตอนที่เขาประกาศ อันนี้ก็ดูกันทั้งโลกเหมือนกัน พอมีข้อมูลพวกนี้เราก็บอกได้ว่า มันอยู่ตรงไหน
สโรชา – คุณยุพินจะเกาะเต่า ถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นที่นั่นหรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ถ้าฝั่งอ่าวไทยนี่ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้นะคะ ตามที่อาจารย์ท่านบอก ถ้าฝั่งอันดามันแน่นอนว่ามีสิทธิเหมือนกัน ว่าจะเกิด After Shock หรือไม่
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง – ผมบอกง่ายๆว่า ถ้าแผ่นดินไหว ถ้าเผื่อว่าเมื่อเช้านี่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่น่าเป็นห่วง พื้นที่ๆไม่มี Tsunami เข้าไปถึง เพราะว่าหลังจากนี้คงไม่มีตัวใหญ่กว่า 8.9 อีกแล้ว พอไม่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณนั้น เหนือสุมาตรา คงจะไม่เกิดตัวใหญ่กว่านั้นอีกแล้ว ในช่วงนี้ ถ้าเขาไม่เคยมีปัญหาเมื่อเช้านี้ก็ไม่น่า
สโรชา – ค่ะ อย่างไรก็คงต้องติดตามข่าวสารกันต่อไป จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร และก็ต้องระวังกันเป็นพิเศษช่วงนี้ คงจะไม่อยากให้เกิดขึ้นอย่างที่ อย่างที่ไม่ได้ระมัดระวังอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ หมดเวลาแล้วค่ะ ขอบพระคุณทั้ง 2 ท่านที่มาร่วมรายการกับเราในวันนี้ ขอบพระคุณที่ติดตามนะคะ สวัสดีค่ะ