xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้อง”นัจมุดดีน”ร่วมกบฎใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา นายประทีป ตรีวิมล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เปิดแถลงสั่งฟ้องในคดีที่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกล่าวหาว่า นายนัจมุดดีน อูมา อายุ 43 ปี ส.ส.นราธิวาส พรรคไทยรักไทย และนายอารีฟ หรือฮารีฟ โซ๊ะโก ร่วมกันกระทำผิด 12 ข้อ พร้อมสั่งให้ผู้ต้องหาชดใช้ค่าอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 400 กระบอก ซึ่งถูกปล้นไปจากค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เป็นจำนวนกว่า 7 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาและคณะทำงานมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีปล้นปืนแล้ว ประกอบด้วยนายมะแซ อุเซ็ง ผู้ต้องหาที่1 , นายอัมเยาะ หรือฮามีเยาะ สะอุ ผู้ต้องหาที่ 12 , นายนอรอดึงหรือมะรูดึง บินบือราเฮง ผู้ต้องหาที่ 14 , นายแบมะ ไม่ทราบนามสกุล ผู้ต้องหาที่ 17 , นายสมาน หรืออุสมาน วอฮะ ผู้ต้องหาที่ 18 ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 26 คน อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และผู้ต้องหาบางคนให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงกันไว้เป็นพยานด้วย ส่วนผู้ต้องหา 26 คน ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทาง พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ รักษาการ ผบ.ตร. ได้ทำความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ กับผู้ต้องหาทุกคน โดยรักษการ ผบ.ตร. ให้เหตุผลในการทำความเห็นแย้ง ว่า พนักงานสอบสวน มีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะเอาผิดกับผู้ต้องหาทั้งหมดได้ โดยขั้นตอนต่อไป อัยการสูงสุด มีอำนาจ ชี้ขาดว่า จะเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ต่อศาลหรือไม่

ด้าน นายนัจมุดดีน เปิดเผยถึงกรณีที่อัยการสั่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ว่า ตนให้ความเคารพดุลยพินิจของอัยการ อย่างไรก็ตามไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือวิตกอะไรที่ผ่านมาตนได้ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด โดยได้เข้ามอบตัวทันทีที่ปิดสมัยประชุมรัฐสภา เมื่อศาลนัดไต่สวนคดีก็ไปให้ปากคำทุกครั้ง นับจากนี้ไปคงต้องเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป ส่วนอนาคตทางการเมืองแล้วแต่ผู้ใหญ่ของพรรคจะพิจารณา ส่วนผลการพิจารณาออกมาแบบใด ตนก็เคารพและน้อมรับ ไม่ว่าจะให้คุณให้โทษกับใคร และเรื่องนี้ยังไม่ได้หารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกฯ และสมาชิกกลุ่มวาดะห์ เพราะยังไม่ได้พบกับใคร อย่างไรก็ตาม นายนัจมุดดีน กล่าวว่า จะแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดี โดยจะไปศาล ในวันนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 21 ก.ค.นี้

สำหรับคำฟ้อง ที่อัยการยื่นต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ 2308/2547 มีนายนัจมุดดีน เป็นจำเลยที่ 1 นายอารีฟ เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดรวม 12 ข้อหา คำฟ้องมีความยาว 16 หน้า บรรยายถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อปี 2534 กลุ่มก่อการร้ายในเขตพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งประกอบด้วย กลุ่ม BRN กลุ่มพูโลเก่า พูโลใหม่ กลุ่ม GMIP(กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี) กลุ่ม BNPP และกลุ่มปูซากา ได้รวมตัวกันก่อตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้น เรียกชื่อว่า ขบวนการเบอร์ซาตู(BERSATU) มีวัตถุประสงค์ต้องการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ออกจากการปกครองของประเทศไทย ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่า รัฐปัตตานี หรือรัฐปัตตานีดารุลสลาม โดยได้ทำการโฆษณาชวนเชื่อ ยุยง ปลุกระดมราษฎรซึ่งนับถือศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว จนหลงเชื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเบอร์ซาตู


คำฟ้องระบุอีกว่า สมาชิกของขบวนการเบอร์ซาตู จะมีการแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน ได้แก่ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสนับสนุนเงินทุน กลุ่มองค์กรศาสนา กลุ่มปฏิบัติการก่อการร้าย กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกลุ่มปฏิบัติการก่อการร้ายจะมีการลักลอบฝึกอาวุธสอนวิชาทหาร การสู้รบแบบกองโจรให้แก่สมาชิกขบวนการฯ ส่งสมาชิกที่อายุครบเกณฑ์ทหารเข้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์ เพื่อทำการฝึกวิชาทหาร คัดเลือกเยาวชนส่งไปอบรมวิชาการทหารและการก่อวินาศกรรมที่ต่างประเทศ ส่วนกลุ่มสนับสนุนเงินทุนจะมีรายได้จากค่าลงทะเบียนเป็นสมาชิก การบริจาคของสมาชิกและแนวร่วมที่มีฐานะร่ำรวย ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศที่เป็นแนวร่วม ได้มาจากการค้ายาเสพติด สินค้าหนีภาษี ค้าไม้เถื่อน และธุรกิจอื่นๆที่ผิดกฎหมาย และยังได้มาจากการข่มขู่เรียกเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้านักธุรกิจ เจ้าของสวนยางพารา ทำให้ขบวนการฯมีเงินทุนในการจัดซื้ออาวุธต่างๆมาสะสมไว้ เมื่อมีกำลังพลแสะสมอาวุธได้พอสมควรแล้ว ขบวนการฯได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้


อัยการบรรยายฟ้องต่อว่า ขบวนการเบอร์ซาตูได้กำหนดแผนขั้นตอนความสำเร็จสู่การปฏิวัติแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 7 ขั้นตอน คือ 1.สร้างจิตสำนึกให้แก่มวลชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก มีเป้าหมาย 3 แสนคน , 2.จัดตั้งมวลชน โดยดึงมวลชนเข้ามาเป็นสมาชิกของขบวนการฯ มีเป้าหมาย 3 แสนคน , 3.จัดตั้งองค์การ ซึ่งเป็นองค์การลับที่อยู่เบื้องหลังไม่เปิดเผยชื่อ , 4.จัดตั้งกองกำลัง ชักชวนเยาวชนให้มาฝึกปฏิบัติการทางทหาร มีเป้าหมาย 3,000 คน , 5.สร้างอุดมการณ์ชาตินิยม โดยการอบรมเยาวชนในโรงเรียนปอเนาะต่างๆ ให้เกิดความฮึกเหิม มีใจสู้ ไม่กลัวตาย , 6.ขั้นเตรียมความพร้อม โดยให้กองกำลังไปก่อความไม่สงบ โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การขโมยปืน ปล้นปืนจาก อส. และยากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไปยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการ และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปล้นอาวุธปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 จนถึงขั้นสุดท้ายคือ การลุกฮือขึ้นต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้ได้ , 7.ก่อการปฏิวัติ เมื่อทุกอย่างตามขั้นตอนที่ 1- 6 พร้อมแล้ว ก็จะก่อการใหญ่ด้วยการปฏิวัติ ดึงอำนาจทางการเมืองกลับคืนและแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง


คำฟ้องระบุอีกว่า เมื่อระหว่างปี 2540 – วันที่ 4 ม.ค.2547 จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ โดยเข้าเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้ายเบอร์ซาตู มีความมุ่งหมายต้องการแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจากการปกครองของประเทศไทยตั้งตัวเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าอั้งยี่ โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวก สมคบกันสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อกระทำการเป็นกบฎ วางแผนก่อการร้าย ปล้นอาวุธปืนกระสุนปืนจากค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 โดยพวกจำเลยประมาณ 140 คน ได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้อาวุธปืน ระเบิด ใช้มีดฟันและแทงทหารยามรักษาการจนเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 14 นาย

ต่อมาวันที่ 4 ม.ค.2547 เจ้าพนักงานยึดได้กระสุนปืนลูกซองสีแดง 13 นัด ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 2 ปลอก กระสุนปืนขนาด .223 จำนวน 13 นัด ปลอกกระสุนปืนขนาด .223 จำนวน 240 ปลอก ปลอกกระสุนปืนเอ็ม 79 จำนวน 6 ปลอก ปลอกกระสุนปืนอาร์ก้า 37 ปลอก หมวกไหมพรมสีดำ 1 ใบ ถุงมือไนล่อน 1 คู่ น้ำมันโซล่า 2 แกลลอน เชือกไนล่อน 1 ม้วน ถังแก๊สปิคนิค 4 ถัง ถังอ๊ออกซิเจน 4 ถัง หัวตัดแก๊ส 1 ชุด ชุดตัดเหล็ก 1 ชุด ตัวจุดชนวนน้ำมัน 1 อัน และอื่นๆ ซึ่งเป็นอาวุธและเครื่องมือที่พวกจำเลยร่วมกันใช้กระทำความผิดจากที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ


ท้ายคำฟ้อง อัยการยังขอให้ศาลนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 698/2547 ของศาลจังหวัดนราธิวาส และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 7,398,124328 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าทรัพย์สินต่างๆ รวม 24 รายการ ที่พวกจำเลยปล้นเอาไป คืนให้แก่กองทัพบก ในฐานะผู้เสียหายด้วย ศาลอาญารับคำฟ้องคดีนี้ไว้ และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 21 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ด้านนายประทีป ตรีวิมล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ยืนยันว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอ ทั้งประจักษ์พยาน พยานบอกเล่า พยานแวดล้อม และพยานวัตถุ โดยอัยการได้กันตัวผู้ต้องหาคดีปล้นปืนไว้เป็นพยาน จำนวน 5 คน คือ นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร กำนันตำบลโต๊ะเด็ง ซึ่งให้การซัดทอดนายนัจมุดดีน , นายอาซีซาน สูเด็ง , นายมุสตอปา หะยีซูยี , นายมะยาแม เจ๊ะมะ และนายแวสะมาแอ อูเซ็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น