ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.บัวหลวง
ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บลจ.บัวหลวง
บทนำ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นพยายามหาหนทางในการปลุกพลังเศรษฐกิจจากภายใน ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้เงินออมของตนเองในการขับเคลื่อนตลาดทุน หนึ่งในนโยบายที่มีบทบาทสำคัญคือโครงการ NISA (Nippon Individual Savings Account) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อลดภาระภาษีและจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการออมแบบดั้งเดิม สู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ด้วยความเชื่อว่าการเคลื่อนย้ายเงินออมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักโครงการ NISA ตั้งแต่จุดเริ่มต้น พัฒนาการ พฤติกรรมของนักลงทุน ไปจนถึงบทเรียนเชิงนโยบายที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ หากมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการลักษณะเดียวกันในอนาคต
กำเนิดโครงการ NISA: แรงบันดาลใจและบริบททางเศรษฐกิจ
โครงการ NISA (Nippon Individual Savings Account) เปิดตัวในปี 2014 ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe (ชินโซ อาเบะ) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนญี่ปุ่นเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน จากการออมเงินไว้ในบัญชีธนาคารที่มีดอกเบี้ยต่ำ ไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ผ่านแรงจูงใจทางภาษี NISA ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ISA (Individual Savings Account) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนของประชาชนอังกฤษ
บริบททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเวลานั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากโครงสร้างสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และพฤติกรรมการเก็บออมเงินสดในบัญชีธนาคารของประชาชนในสัดส่วนที่สูง รัฐบาลจึงตั้งเป้าใช้ NISA เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการผลักดันให้เงินออมเหล่านั้นไหลเข้าสู่ตลาดทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นและลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจในระยะยาว
พัฒนาการของ NISA: จากโครงการเริ่มต้นสู่การยกระดับ
นับตั้งแต่เริ่มต้น โครงการ NISA ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานผู้ลงทุนและเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในระยะแรก โครงการจำกัดให้เฉพาะประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยกำหนดวงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านเยนต่อปี พร้อมการยกเว้นภาษีจากผลตอบแทนเป็นระยะเวลา 5 ปี ต่อมาในปี 2016 รัฐบาลได้ขยายโครงการด้วยการเพิ่มวงเงินเป็น 1.2 ล้านเยนต่อปี และเปิดตัว Junior NISA สำหรับเยาวชน เพื่อสร้างวินัยในการลงทุนตั้งแต่วัยเด็ก
ต่อมาในปี 2018 โครงการถูกขยายเพิ่มเติมด้วยการเปิดตัว Tsumitate NISA ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนระยะยาวและเป็นระบบ โดยกำหนดวงเงินลงทุนสูงสุด 400,000 เยนต่อปี จนกระทั่งในปี 2024 โครงการ NISA ได้รับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ New NISA โดยผนวกรวมโครงการเดิมเข้าด้วยกัน พร้อมขยายวงเงินลงทุนสูงสุดเป็น 3.6 ล้านเยนต่อปี และกำหนด Lifetime Limit ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้โครงการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและตอบโจทย์นักลงทุนหลากหลายกลุ่ม
พฤติกรรมผู้ลงทุนและงบดุลครัวเรือนญี่ปุ่น
แม้ว่าจำนวนบัญชี NISA จะเติบโตต่อเนื่อง แต่พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนญี่ปุ่นโดยรวมยังคงเน้นการถือเงินสดและเงินฝากเป็นหลัก โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2022 พบว่า General NISA มีจำนวนบัญชีรวม 10.9 ล้านบัญชี และมียอดซื้อสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการรวม 28.34 ล้านล้านเยน ขณะที่ TsumitateNISA มีจำนวนบัญชีรวม 7.83 ล้านบัญชี และยอดซื้อสะสมรวม 3.23 ล้านล้านเยน
นอกจากนี้ งบดุลของครัวเรือนญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นว่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในส่วนของ Owner’s Equities หรือทุนของเจ้าของ ขณะที่หนี้สินมีสัดส่วนต่ำและส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านจากพฤติกรรมการออมสู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จึงยังเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งผลักดันผ่านโครงการ NISA และมาตรการอื่น ๆ
งบดุลครัวเรือนของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ผลักดันจาก Owner’s Equities เป็นหลัก
ที่มา: BoJ
Fund Flows สุทธิจำแนกตามประเทศ (พันล้านเยน)กระแสเงินลงทุนในปี 2024 และบทเรียนสำหรับนักลงทุน
ข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2024 สะท้อนถึงกระแสเงินไหลเข้าสู่โครงการ NISA อย่างต่อเนื่อง โดยมียอดเงินทุนไหลเข้า รวม 4.3 ล้านล้านเยน แม้ในช่วงเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นจะปรับฐาน นักลงทุนยังคงนำเงินเข้าสู่โครงการเฉลี่ยกว่า 1 ล้านล้านเยนต่อเดือน โดยเฉพาะในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความนิยมสูง เช่น US Equity และ World Equity ซึ่งมียอดซื้อรวม ค่อนข้างโดดเด่น
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการลงทุนดังกล่าวยังคงสะท้อนลักษณะการตัดสินใจแบบกลุ่ม (Herd Behavior) อย่างชัดเจน นักลงทุนจำนวนมากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ยอดนิยม และรีบขายออกเมื่อเผชิญกับความผันผวนของตลาดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้ตอกย้ำความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและการกระจายพอร์ตลงทุนอย่างเหมาะสม
NISA กระจกเงาสะท้อนเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย
ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการออกแบบและพัฒนาโครงการ NISA นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ประเทศไทยสามารถนำมาศึกษาเพื่อประยุกต์ หากมีความพยายามในการพัฒนาโครงการ Thai Individual Savings Account (TISA) ในอนาคต สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การออกแบบโครงสร้างของ TISA ให้สอดคล้องกับบริบทของครัวเรือนไทย ซึ่งมีข้อจำกัดด้านภาระหนี้สินสูงกว่าครัวเรือนญี่ปุ่น วงเงินสิทธิประโยชน์จึงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสนับสนุนให้มีการลงทุนอย่างสมดุลระหว่างสินทรัพย์ปลอดภัยและสินทรัพย์เสี่ยง
นอกจากนี้ พฤติกรรมการลงทุนใน NISA ยังชี้ให้เห็นว่าการออกแบบ TISA ควรมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนระยะยาวและการกระจายความเสี่ยงอย่างแท้จริง พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดและหลักการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดความเปราะบางจากพฤติกรรมการลงทุนตามกระแสและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความต่อเนื่องของนโยบายการออมและการลงทุนเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม แม้โครงสร้างของโครงการจะถูกออกแบบมาอย่างดีเพียงใด หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยขาดความชัดเจนและเสถียรภาพ ไม่เพียงแต่จะทำให้โครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวเท่านั้น แต่ยังอาจสร้างความไม่แน่นอนในเชิงนโยบาย ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้แรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการลดลง ความสำเร็จของโครงการในระยะยาวจึงขึ้นอยู่ไม่เพียงแต่กับโครงสร้างและสิทธิประโยชน์ที่เสนอ แต่รวมถึงความแน่วแน่และเสถียรภาพของนโยบายตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ: เนื้อหาในงานเขียนนี้ ส่วนหนึ่งเรียบเรียงมาจากรายงานการวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดทำนโยบายโครงการบัญชีการออมส่วนบุคคลในประเทศไทย (TISAs)” จัดทำโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) รหัสโครงการ GRANT2567/0006