xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีตลาดหุ้นโลก MSCI ACWI เริ่มต้นปีด้วยการปรับตัวขึ้นราว 3% ในเดือนมกราคม 2568 ท่ามกลางปัจจัยหลากหลายที่ก่อให้ตลาดมีความผันผวน ทั้งเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศ กระแสเทคโนโลยี AI รวมถึงฤดูกาลรายงานผลประกอบการงวด 4Q67 ซึ่งในเชิงกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2568 อย่างต่อเนื่อง ด้วยความแข็งแกร่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ ด้วยแนวทางนโยบาย America First ที่เน้นผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก ที่อาจต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อประเทศอื่น เช่น นโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ซึ่งประธานาธิบดี Trump เน้นไปที่ประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน เป็นหลักในช่วงแรก จึงอาจส่งผลให้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ มากกว่าสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P 500) ทำผลงานได้ดี 2 ปีต่อเนื่อง

ความท้าทายย่อมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P 500) ปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ทำให้ Valuation ของดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ และมีความตึงตัวมากขึ้น เมื่อพิจารณา 12-month Forward P/E Ratio ที่ระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี+1.7USD (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 31 ม.ค.2568) ในมุมของ SCBAM มองว่า Valuation ของตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนที่สูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นมีความอ่อนไหวมากขึ้น เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามากระทบในช่วงเวลาต่างๆ  

หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สีสันของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่ม 7 นางฟ้า หรือ Magnificent 7 (MAG7) ได้แก่ Apple, Microsoft, Nvidia, Amazon, Meta Platforms (หรือ Facebook), Alphabet (หรือ Google) และ Tesla หุ้นกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรง และช่วยหนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก แต่สำหรับปี 2568 นี้ SCBAM คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีการกระจายตัวมากขึ้น และเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ จากการรวบรวมข้อมูลประมาณการของนักวิเคราะห์ในตลาดโดย FactSet ทำให้คาดว่า กำไรของดัชนี S&P 500 จะมีโอกาสขยายตัวได้ราว 14.8% YoY ในปี 2568 ที่เร่งตัวขึ้นจากปี 2567 และคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตราว 9.4% YoY

ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่า การคาดการณ์กำไรของ 493 บริษัทที่นอกเหนือจากกลุ่ม MAG7 จะเติบโตราว 13% YoY ในปี 2568 ดีขึ้นจากปี 2567 ที่คาดว่าจะโตเพียง 4.2% YoY ขณะเดียวกัน คาดว่ากำไรของกลุ่ม MAG7 จะโตราว 21.3% YoY ในปี 2568 ชะลอตัวลงจากระดับ 33.3% YoY ในปี 2567 สังเกตได้ว่า ความห่างของการเติบโตระหว่างกลุ่ม MAG7 และอีก 493 บริษัท เริ่มแคบลง ซึ่งเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม MAG7 เช่น กลุ่มวัฏจักร (Cyclicals) มีความน่าสนใจมากขึ้นในการลงทุนปีนี้

2 ปัจจัยสำคัญ กับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ
แนวทางลงทุนของปี 2568 นี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ (1) ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มองว่า แนวโน้มยังอยู่ในการปรับนโยบายเข้าสู่สมดุล (Normalization) และค่อนข้างผ่อนคลาย อีกทั้งมีมุมมองของตลาดผ่าน CME FedWatch Tool ว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งการลดดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี หลังจากที่การประชุม Fed นัดแรกที่เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Fed มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% พร้อมส่งสัญญาณว่า Fed จะไม่รีบเร่งในการปรับลดดอกเบี้ย และคณะกรรมการส่วนใหญ่กำลังรอดูผลของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน

อีกประเด็น คือ (2) การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะ AI ที่เป็นประเด็นร้อนจากการเปิดตัว DeepSeek R1 ซึ่งเป็น AI Model จากบริษัทจีน ที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำ แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสงสัยในหลายด้านต่อ DeepSeek ว่าจะเป็นผู้เปลี่ยนเกม หรือ Game Changer ในอุตสาหกรรม AI ของโลกได้หรือไม่ แต่ SCBAM มองว่า การเข้ามาของ DeepSeek ช่วยจุดกระแสการแข่งขันในการลดต้นทุน ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ที่การแข่งขันมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการลงทุนในระบบประมวลผลที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุด แต่ตามมาด้วยต้นทุนที่สูงมากเช่นกัน ดังนั้น หากว่า กระแสการแข่งกันลดต้นทุน ถูกจุดติดขึ้นมาจริงน่าจะกระตุ้นให้การนำไปประยุกต์ใช้ภาคธุรกิจได้เร็วขึ้น และช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต

---------------------------------
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น