บลจ.อีสท์สปริงตั้งเป้าปี 68 AUM โตต่อเนื่อง โชว์ปี 67 โตก้าวกระโดด 4% เดินหน้าขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ มองเอเชีย-ตลาดเกิดใหม่ เป็นโอกาสสู้เศรษฐกิจโลกผันผวน ส่วนหุ้นไทยอยู่ในกรอบ 1,270-1,350 จุด มั่นใจมีแรงซื้อไม่หลุด 1,200
นาฝ ส.ดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมในปีนี้โตมากกว่าอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จจากผลการดำเนินงานของกองทุนทุกประเภท โดยมีอัตราเติบโตของ AUM รวม 14% ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2024 โดยแบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.93% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 10.16% และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 7.31% สูงกว่าอุตสาหกรรมธุรกิจการจัดการกองทุนAUM รวมเติบโตเกือบ 10% แบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.10% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 6.41% และ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเติบโต 2.21% (ข้อมูล AIMC ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2024)
ส่วนการเปิดขายกองทุนในปีนี้บริษัทจะเน้นตอบโจทย์นักลงทุนในการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยกองทุนหลักในพอร์ตการลงทุน และกองทุนที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนมากขึ้น
“บริษัทมองเห็นโอกาสการลงทุนในแต่ละภูมิภาค และแต่ละสินทรัพย์ที่มีความแตกต่างกัน การคัดเลือกกองทุนและจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์จะเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุน” น ส.ดารบุษป์ กล่าว
ชูเอเชียน่าสนใจมีโอกาสโตสูง
นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ยังคงยากที่จะคาดเดาและหลายประเด็นอาจไม่ได้นำไปปฏิบัติทั้งหมด ความล่าช้าของนโยบายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงินเฟ้อและแนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น ขณะที่ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่มีความดึงดูดในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว และปัจจัยขับเคลื่อนในระยะยาวยังคงอยู่ เช่น การใช้จ่ายเงินทุนที่เพิ่มขึ้น การลดการปล่อยคาร์บอน และการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานน่าจะช่วยยกระดับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับประเทศที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสการลงทุนในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ยกตัวอย่าง เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น โดยจีนยังมีมุมมองที่ดีแต่ยังคงระมัดระวังผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ แต่การประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกและมาตรการการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความท้าทายจากภายนอกได้ รวมถึงมาตรการที่กระตุ้นภาคการบริโภค
ส่วนอินเดียการบริหารจัดการเชิงรุกถือเป็นปัจจัยสำคัญท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจของอินเดียที่ชะลอตัวลง และการประเมินมูลค่าตลาดที่ตึงตัว บริษัทในอินเดียยังคงค่อนข้างแข็งแรง โดย ROE กำลังดีขึ้นและอัตราส่วนหนี้สินกำลังลดลง การปรับฐานของตลาดในอินเดียในไตรมาส 4 ปี 2024 ทำให้ผู้ลงทุนมีจุดเข้าลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น หุ้นขนาดใหญ่มีราคาที่น่าสนใจมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก
หุ้นไทยมีแรงพยุงไม่หลุด 1,200
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง ปัจจุบันหุ้นไทยยังไม่ได้ซื้อขายอยู่บนปัจจัยพื้นฐานเท่าไร และราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งราคาหุ้นไทยที่ P/E ประมาณ 15 เท่า ท่ามกลางการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ EPS ประมาณ 98 บาท และเป็นคาดการณ์ที่ถูกปรับลดลงมาแล้ว โดยมีปัจจัยสนุับสนุนภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่องการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สุดท้ายคือมาตรการ LTF ทีมีแนวโน้มกลับมาใช้อีกครั้ง
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าการไหลทะลักสินค้าจากจีนเข้ามาในไทยความเชื่อมั่นของนักลงทุน และแรงขายของ LTF โดยดัชนีหุ้นไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1,270-1,350 จุด และแนวรับต่ำสุดคาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ 1,219 จุด
“หุ้นไทยช่วงที่ผ่านมามีแรงกดดันจากการขาย LTF แต่เชื่อว่าต่อจากนี้จะลดลง เนื่องจากนักลงทุนน่าจะชะลอการขายออกไปก่อน โดยราคาหุ้นไทยไม่น่าจะหลุดไปต่ำกว่า 1,219 หรือที่ P/E 14.2 เท่าซึ่งน่าจะมีแรงซื้อกลับมา แต่ยังต้องดูในเรื่องของนโยบายทรัมป์ด้วยว่าจะมีมาตรการอะไรหนักๆ กระทบถึงไทยด้วยหรือไม่“
ส่วนแนวโน้มเงินลงทุนจากต่างชาติคาดว่ายังจะไม่กลับเข้ามาลงทุนเพิ่มในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้เนื่องจากหากเปรียบเทียบปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วยังมีตลาดอื่นในภูมิภาคเดียวกันน่าสนใจมากกว่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงติดตามดูความเคลื่อนไหว และนโยบายอื่นๆ ของไทยที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปก่อน