xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์ US Equity Premium Income

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันสถานการณ์หลังตลาดหุ้นเติบโตสูง   เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มความผันผวน จากนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อาจลดลงช้ากว่าที่คาด กลยุทธ์ US Equity Premium Income การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และรับค่าพรีเมียมจากการขายสัญญาสิทธิในการซื้อหุ้น หรือคอลออปชันที่มีโอกาสรับผลตอบแทนสูง โดยแลกมาด้วยอาจจำกัดโอกาสรับผลตอบแทนของหุ้นในกรณีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาก  

บทความนี้นำเสนอ US Equity Premium Income ในสามประเด็น คือ 1) กลยุทธ์การลงทุน และมีข้อดีอะไร 2) กลยุทธ์จะทำได้ดี (ชนะตลาดหุ้นสหรัฐฯ) ในสถานการณ์ตลาดแบบไหน 3) แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2568 US Equity Premium Income คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหุ้นสหรัฐ โดยเลือกลงทุนในหุ้น~200-300 ตัว มีค่าความเสี่ยงวัดโดยค่า Beta ~ 0.8 เท่าเทียบกับดัชนี S&P500 และทำขายสัญญาสิทธิในการซื้อดัชนี S&P500 ที่มีอายุ 1 เดือน เพื่อรับเงินค่าพรีเมียม  

กลยุทธ์ดังกล่าวมีข้อดีหลายประการ* คือ 1) อัตราผลตอบแทนรวม เฉลี่ย 12.9% ต่อปี โดยรับรายได้จากเงินปันผลและพรีเมียม คิดเป็นอัตรา 7-9% ต่อปี ของมูลค่าเงินลงทุนและได้รับส่วนต่างราคา (Capital Gain) โดยสุทธิ อีกประมาณ 3-5% ต่อปี 2) มีความผันผวน ~12.8% ต่อปี คิดเป็น 0.67 เท่าของความผันผวนของดัชนี S&P500 และมีผลขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นตามดัชนี S&P500 3) เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงสูงถึง 1.1 เท่า ดังนั้น กลยุทธ์ดังกล่าวจึงมีความคุ้มค่าในแง่ประสิทธิภาพการลงทุนสูงกว่าการลงทุนดัชนี S&P500 และให้ผลตอบแทนสูง (เฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี)  

กลยุทธ์ US Equity Premium Income ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี S&P500 ได้ ในสองสถานการณ์การลงทุน คือ 1) ในภาวะดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้นปานกลางและมีความผันผวนไม่สูงมากนัก ทำให้กลยุทธ์ได้ผลตอบแทนจาก Capital Gain ระดับไม่ต่างจากผลตอบแทนดัชนีมากนัก แต่กลยุทธ์ดังกล่าวมีรายได้จากพรีเมียมอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของกลยุทธ์ดังกล่าวสูงกว่าดัชนี S&P500 2) ในภาวะดัชนี S&P500 ร่วงแรงจนทำให้ผลตอบแทน US Equity Premium Income ติดลบ แต่จะติดลบน้อยกว่า S&P500 เนื่องจากได้รับพรีเมียมจากการขาย Option มาชดเชยผลขาดทุนบางส่วน ในปี 2568 กลยุทธ์ US Equity Premium Income อาจชนะดัชนี S&P500 เนื่องจากหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นจำกัด หลังจากหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นแรงมากกว่า 20% สองปีติดต่อกัน และ Valuation ของหุ้นที่ค่อนข้างแพง จึงยากที่หุ้นจะปรับขึ้นมากๆ ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P500 ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้ดี (Bloomberg Consensus คาด GDP ของสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.1% YoY)  การบริโภคยังเติบโตและการจ้างงานยังดีพอควร อัตราการว่างงานยู่ที่ระดับ 4% ดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มลดลง คาดว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้นสหรัฐฯ จะกระจายไปกลุ่มอื่นมากขึ้น เช่น Financials, Consumer Discretionary และ Industrials รวมถึงหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนเหนือหุ้นขนาดใหญ่ ส่วนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ยังมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว  
ในด้านความผันผวนของตลาดหุ้นอาจสูงขึ้น จากนโยบายกีดกันทางการค้า ทำให้การค้าของโลกอยู่ในภาวะตึงเครียดมากขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาจเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงช้า ดังนั้นนักลงทุนควรเตรียมรับมือกับตลาดหุ้นที่อาจให้ผลตอบแทนต่ำและกรณีเลวร้าย อาจถึงขั้นติดลบในปีนี้  

โดยสรุปกลยุทธ์ US Equity Premium Income อาจสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนในปี 2568 ที่มีมุมมองแบบ Cautious Optimistic คือ หุ้นยังปรับตัวขึ้น แต่มีความผันผวน กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่เน้นกระจายความเสี่ยงให้มีผันผวนต่ำกว่าการลงทุนหุ้นตามดัชนี S&P500 คาดหวัง Capital Gain บางส่วน และที่สำคัญรับรายได้พรีเมียมจากการขายสัญญาสิทธิในการซื้อดัชนี S&P500 ที่สม่ำเสมอทุกเดือน โดยพรีเมียม อาจเพิ่มขึ้น หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนที่นักลงทุนในตลาดต้องเผชิญในปีนี้ นอกจากนี้ กลยุทธ์ US Equity Premium Income ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง (ในแง่อัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง) กว่าการลงทุนในหุ้น S&P500

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวถือว่ามีลักษณะเฉพาะและต้องการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทที่จะลงทุน การจัดการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ดี และควบคุมความเสี่ยง โดยกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส อิคิวตี้ พรีเมี่ยมอินคัม ลงทุนผ่านกองทุน JPM US Equity Premium Income Active UCITS ETF ที่บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และมีนโยบายการลงทุนตามกลยุทธ์ดังกล่าว  

กองทุน MUSPIN-H ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนและกองทุน MUSPIN-UH ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

หมายเหตุ * ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2567 อ้างอิงจาก JPMorgan Equity Premium Income ETF ที่จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น