สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies – AIMC) เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนสถาบันไทยต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการลงทุน และมุมมองการจัดน้ำหนักการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในภาพรวมมีมุมมองปานกลางค่อนไปทางบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และต่างเชื่อมั่นว่าการลงทุนแบบยั่งยืนจะเป็นแนวทางหลักที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
นางชวินดา หาญรัตนกูล ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกบริษัทจัดการลงทุนในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาต่อมุมมองการลงทุนในระยะเวลาหนึ่งปีข้างหน้า (ปี 2568) “ทีมผู้จัดการกองทุนไทยเกือบทั้งหมดมีมุมมองปานกลางค่อนไปทางบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ และคาดการณ์ว่ากนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าเพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตได้ดีขึ้น โดยจะปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ ณ ระดับร้อยละ 1.75 ณ สิ้นปี 2568 และอาจมีการปรับลดลงเล็กน้อยต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5 ณ สิ้นปี 2569 ซึ่งเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ ในขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ สำหรับการจัดน้ำหนักการลงทุนในประเทศ (Asset Allocation) ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) เน้นให้น้ำหนักการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เป็นสำคัญโดยเฉพาะตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนระยะปานกลางถึงยาว ส่วนการลงทุนในตราสารทุนจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ (Medium to Large Cap) เป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืน (ESG Investing) ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนแบบทั่วไปได้เล็กน้อยโดยเปรียบเทียบ กลุ่มอุตสาหกรรมในดวงใจคือกลุ่มการค้าพาณิชย์ กลุ่มท่องเที่ยวสันทนาการ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสถาบันการเงินตามลำดับ ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมีมุมมองเป็นกลาง โดยเน้นการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยมีทองคำบ้างเล็กน้อย
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวและจะฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งถือเป็นมุมมองในเชิงบวกกว่าการสำรวจครั้งก่อน โดยอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางลดลงและการเติบโตของ GDP ประเทศเศรษฐกิจหลัก จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุน แต่ยังคงมีความกังวลต่อเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา (Fed Fund Rate) นั้น คาดว่าจะสามารถทยอยลดระดับลงได้ต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5-3.75 ณ สิ้นปี 2568 สำหรับการจัดน้ำหนักการลงทุนทั่วโลก กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ได้รับความสนใจกว่า (Overweight) กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ตราสารทุนมีความน่าสนใจกว่าสินทรัพย์อื่นๆโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) ถึงปานกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยสหรัฐอเมริกา ยุโรป(โดยเฉพาะอังกฤษและเยอรมัน) รวมถึงอินเดีย กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริการสื่อสาร กลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มสาธารณูปโภค ในส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ มีมุมมองเป็นกลางให้ความสนใจในตราสารหนี้ระยะปานกลางของสหรัฐอเมริกาและยุโรปมากกว่าตราสารหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ สำหรับสินทรัพย์ทางเลือกยังคงมีน้ำหนักเป็นกลางโดย REITs และ Infrastructure Funds ได้รับความสนใจมากสุด ขณะที่ทองคำและน้ำมันได้รับความสนใจอยู่บ้าง
นอกจากนั้น ในการสำรวจรูปแบบการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนให้ความสนใจในปี 2568 ทีมผู้จัดการกองทุนยังคงให้ความสำคัญต่อการลงทุนในรูปแบบความยั่งยืน (ESG Investing) เป็นสำคัญ โดยมีความสนใจที่จะออกกองทุน ThaiESG ใหม่ๆในรูปแบบผสมผสาน (Mixed Fund) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบยั่งยืนและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมในดวงใจมีความใกล้เคียงกับการจัดสรรการลงทุนในหุ้นไทยทั่วไปดังที่กล่าวมา และผู้จัดการกองทุนยังคาดหวังที่จะออกกองทุนที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนในต่างประเทศรูปแบบ Feeder Fund - ESG FIF เพื่อนำเสนอให้แก่ผู้ลงทุนไทยให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
อนึ่ง การสำรวจมุมมองผู้ลงทุนสถาบันไทยโดย AIMC นั้น มุ่งหวังให้ผลสำรวจนี้เป็นแนวทาง หลักคิดด้านการออมและลงทุน และช่วยให้ภาพรวมในการจัดแบ่งเงินลงทุน เพื่อที่ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน และประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ และสามารถสร้างความยั่งยืนผ่านเงินลงทุนของกิจการหรือของตนเองได้ต่อไป