บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดตัว "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน" (MSOV-ThaiESG) เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนผ่าน ESG BOND ตัวช่วยลดหย่อนภาษีปี 67 ตอบโจทย์นักลงทุนสายเซฟ รับเกณฑ์ใหม่ถือสั้นลงเพียง 5 ปี ลงทุนสูงสุดได้ถึง 300,000 บาท เปิดขาย IPO ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. – 8 พ.ย. 67 นี้
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยและสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น
ล่าสุดได้ออก "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ "MSOV-ThaiESG" มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้หรือตราสารเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability - linked Bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เปิดเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 29 ต.ค. – 8 พ.ย. 67 นี้
"กองทุน MSOV-ThaiESG เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในตราสารภาครัฐไทย รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางค่อน ข้างต่ำ และสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนไปกับการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG BOND) พร้อมรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2567 จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกลงทุน นอกเหนือจาก 2 กองทุนที่ได้ออกเสนอขายครั้งแรกเมื่อปี 2566 ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีท็อป 25 หุ้นไทยเพื่อความยั่งยืน (MT25-ThaiESG) กองทุนตราสารทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเฟล็กซิเบิลไทยเพื่อความยั่งยืน (MFLEX-ThaiESG) กองทุนผสมที่ลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน" นายธนโชติ กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ได้มีการปรับเกณฑ์การลงทุนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อส่งเสริมให้มีการออมผ่านกองทุนชนิดนี้เพิ่มขึ้น โดยขยายวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่นับรวมกับวงเงิน 5 แสนบาท ของการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ RMF, SSF, PVD กองทุนสงเคราะห์ครู กบข. ประกันบำนาญ และ กอช.) นอกจากนี้ ยังลดระยะเวลาการถือครองเหลือเพียง 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) จากเดิมต้องถือครอง 8 ปี (นับแบบวันชนวัน)