xs
xsm
sm
md
lg

ค่าเงินบาทกับการลงทุนในต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ธนัย ลิขิตชัยกุล
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)

ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศที่นักลงทุนอาจได้รับประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์ โดยอาจมีผลกระทบมากกว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน การป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินโดยใช้สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงแล้ว อาจสร้างกำไรหรือผลขาดทุนจากสัญญาเงินตราต่างประเทศเหล่านั้นได้โดยบทความนี้จะสร้างความเข้าใจเบื้องต้นในแง่ของการลงทุนต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงิน และการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน

ผลกระทบจากค่าเงินบาทสำหรับการลงทุนต่างประเทศ โดยเบื้องต้นจะเป็นการพิจารณาจากค่าเงินบาท (THB) และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยกตัวอย่างหากเราลงทุนในกองทุนตราสารหนี้สหรัฐ 1 ปีได้กำไรปีนี้ +4% หากกองทุนมีหน่วยเป็น USD และ มีสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุน (Underlying) ในที่นี้คือตราสารหนี้ เป็น USD หากค่าเงินบาท (USDTHB) ปรับตัวอ่อนค่าจาก 36 บาท เป็น 37.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ +5% เราจะได้กำไรรวมที่ประมาณ +9% หากรวมผลของกำไรส่วนเพิ่มที่ได้รับผลกระทบกับค่าเงินไปด้วย อย่างไรก็ตาม หาก Underlying ที่ลงทุนเป็นสกุลเงินอื่น แต่กองทุนคำนวณมูลค่าลงทุนเป็น USD อาจทำให้เกิดส่วนต่างของค่าเงินขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เช่น ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเทศ A ได้กำไรปีนี้ +4% ในรูปของค่าเงินท้องถิ่น ขณะที่ค่าเงินประเทศ A อ่อนค่าเทียบกับ USD +5% เราจะได้เพียงกำไรสุทธิเป็นค่าเงิน THB เพียง +4% (+4%-5%+5% = +4%) โดยเป็นผลจากค่าเงินประเทศ A อ่อนค่าเทียบ USD เราจะขาดทุน -5% เทียบ USD แต่พอเปลี่ยนค่าเงิน USD เป็น THB เราจะได้กำไร +5% หรือ หักล้างกันไป โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนต่างประเทศในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ มักจะปิดบัญชีเป็นสกุล USD ดังตัวอย่างหลัง ทั้งนี้เราอาจพิจารณาเพียงค่าเงิน A เทียบ THB หาก ค่าเงิน A ไม่เปลี่ยนแปลงเทียบ THB เราจะไม่ได้ไม่เสียจาก ผลของค่าเงิน แต่หากค่าเงิน A แข็งค่าเทียบค่าเงินบาท +1% เราจะได้กำไรจากค่าเงิน +1% เป็นต้น

สำหรับการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาท (Currency hedging) เพื่อให้เรามีผลกระทบ (Exposure) เพียงการลงทุนอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการป้องกันความเสี่ยงนั้นเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forwards) กับสถาบันการเงิน โดย Forwards นั้นมีส่วนต่างราคาของ Forward และราคา Spot (อัตราแลกเปลี่ยนทันที) ที่อาจถูกมองเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง เช่น เราได้กำไรจาก Underlying สกุล USD ที่ +4% และทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ไม่ว่า USD เปรียบเทียบกับ THB จะอ่อนค่าหรือแข็งค่าก็แล้วแต่ ค่าเงินจะไม่มีผลต่อผลตอบแทนเราอีกเลย แต่เราอาจไม่ได้กำไร +4% เพราะส่วนต่างราคา Forward และ Spot ซึ่งปัจจุบันต่างกันอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ปัจจัยสำคัญที่กำหนดส่วนต่างดังกล่าว คือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐและของไทย สรุปแล้วการลงทุนรอบนี้เราจะกำไรเพียง +1.0% (=+4%-3% ) อันเป็นสิ่งที่นักลงทุนประสบอยู่ในช่วงเวลานี้สำหรับการลงทุนในต่างประเทศที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแล้วได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
กลับกันในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นปี 2020 – 2021 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทย สูงกว่าของสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 0.5%ต่อปี มีส่วนทำให้การป้องกันความเสี่ยงด้วยสัญญา Forwards ในช่วงเวลานั้น เราได้ผลตอบส่วนเพิ่มจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

สำหรับตัวอย่างการคำนวณผลขาดทุน/กำไรของการลงทุน กรณีทำสัญญา Forwards เพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน แล้ว เงินบาทแข็งค่า จากค่าเงินปัจจุบัน (Spot price) เช่น ปี 2021 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30 บาท แต่ Forwards จะอยู่ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการทำสัญญา Forwards 1 ปีนั้น แล้วหนึ่งปีต่อมาเงินบาทแข็งค่า มาอยู่ที่ 28.5 บาท ในส่วนของการลงทุนจะเกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงิน USD กลับมาเป็น THB =-5% [=(30-28.5)/30 ] ขณะที่เมื่อ Forwards หมดอายุสัญญา โดยอ้างอิงกับ Spot price ที่ 28.5 บาท จึงทำให้เราจะได้กำไรจากการทำสัญญา Forwards ที่ +5.5% [=(30.15-28.5)/30.15] เมื่อคำนวณผลรวมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจะได้กำไรสุทธิราว +0.5% (=-5%+5.5%) สำหรับตัวอย่างการคำนวณผลขาดทุน/กำไรของการลงทุน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ จะกลับขากัน โดยเราจะค่าใช้จ่ายราว -3% เนื่องจากดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าดอกเบี้ยไทย โดยรายละเอียดการคำนวณอื่นๆจะเป็นลักษณะเดียวกันหมด

โดยสรุป การเปลี่ยนค่าเงินอาจส่งผลกระทบการลงทุนต่างประเทศยังมีนัยสำคัญ ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อดีข้อเสีย ก่อนการตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน และพิจารณาความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ นักลงลงทุนมีทางเลือกค่อนข้างหลากหลายตามแต่ความเหมาะสม โดยสามารถเลือกลงทุนในกองทุนแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedge) หรือเลือกกองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge) เพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบางส่วน (Partial Hedge) หรือ ทั้งหมด (Fully hedge)
กำลังโหลดความคิดเห็น