รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM เปิดเผยว่า BBLAM เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 17/24 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ BP17/24(AI) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2567 ประมาณการผลตอบแทน 2.25% ต่อปี โดยเสนอขายในราคา 10 บาทต่อหน่วย และผู้ลงทุนจะต้องจองซื้อครั้งแรกขั้นต่ำ 500,000 บาท
กองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (เทอมฟันด์) ประมาณ 6 เดือน จะระดมเงินจากผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูง ซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ เพื่อแสวงหาโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสมในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ BP17/24(AI) จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินต้นและดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้รับทั้งหมด (Fully Hedge)
ตราสารหนี้ต่างประเทศที่กองทุนนี้เข้าไปลงทุนได้ ประกอบด้วย ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน รวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้อื่นๆ ที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยต้องรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ณ วันที่ลงทุนอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade ทั้งยังสามารถลงทุนในเงินฝากต่างประเทศได้ นอกจากนี้อาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ BP17/24(AI) ไม่มีค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนนี้เป็นการรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติ 1 ครั้ง ภายในวันทำการก่อนวันครบกำหนดอายุโครงการ โดยบริษัทจัดการจะประกาศวันที่รับซื้อคืนอัตโนมัติให้ผู้ลงทุนทราบ ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่จดทะเบียนกองทุน ขณะที่การจ่ายเงินคืนเมื่อครบอายุกองทุน จะจ่าย 1 ครั้ง ภายในวันที่เลิกกองทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในทะเบียน ณ วันเลิกกองทุน ตามวิธีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้แจ้งไว้ในใบคำขอเปิดบัญชี (โอนเข้าบัญชี / เช็ค) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ไว้ได้ว่า เมื่อกองเทอมฟันด์ครบอายุ ให้สับเปลี่ยนเข้ากองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี (B-TNTV) หรือกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้ภาครัฐ (B-TREASURY)