บลจ.เอ็มเอฟซี ชี้โอกาสทองลงทุน "ตราสารหนี้สหรัฐฯ" คาด Fed ปรับลดดอกเบี้ยเดือน ก.ย. นี้ หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว ชูกองทุน "MUBOND - MUBONDUH" เน้นลงทุนตราสารหนี้คุณภาพดีในสหรัฐฯ Credit Rating ระดับ AA โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ มีให้เลือกลงทุนทั้งแบบป้องกันความเสี่ยงค่าเงินและอีกทางเลือกแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ลุ้นผลตอบแทน 2 เด้งจากค่าเงินบาทอ่อน
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี มองระยะสั้นเป็นโอกาสดีในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) “ตราสารหนี้ต่างประเทศ" ซึ่งล่าสุดได้ปัจจัยหนุนจากตลาดคาดหวังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น 90% (CME FEDWATCH TOOL ณ 23ก.ค. 67) หลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญและตลาดแรงงานชะลอ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM) หดตัวอยู่ที่ 48.8 ในเดือน มิ.ย จาก 53.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.63 บ่งชี้เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงได้ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ชะลอลงมาอยู่ที่ 206,000 ตำแหน่ง ในเดือน มิ.ย. อัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ 4.1% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64
ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯทรงตัวที่ 4.25% และปรับตัวลงในรุ่นอายุ 2 ปีที่ 4.51%(23 ก.ค. 67) โดยคาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี มีแนวโน้มปรับตัวลงที่ 4.00% ณ สิ้นปี ส่งผลบวกต่อราคาตราสารหนี้สหรัฐฯ ส่วนทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ มองแนวโน้มชะลอลงได้เนื่องจากโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวในช่วงครึ่งปี ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 3.0% YoY ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 และเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเช่นกันที่ 3.3% YoY
"ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดลง FedDot Plot คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.125% ในปี 67 และ 4.125% ในปี 68 จึงคาดปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ และลดลงต่อเนื่องอีก 1.00% หรือ 4 ครั้ง ในปี 68 อย่างไรก็ตาม ตลาดคาด Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้ง ซึ่งมากกว่า Fed Dot Plot และลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% ในเดือน ก.ย.นี้ จึงมองเป็นโอกาสทองของการลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ" นายธนโชติ กล่าว
อย่างไรก็ตามจากมุมมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว “Overweight” ตราสารหนี้ต่างประเทศ จึงแนะนำกองทุนเปิด เอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ หรือ MUBOND มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ Unhedged หรือ MUBONDUH ไม่มีนโนบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ JPMorgan Funds - US Aggregate Bond Fund
นายธนโชติ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของกองทุน MUBOND-MUBONDUH ซึ่งคัดลงทุนเฉพาะตราสารหนี้สหรัฐฯ คุณภาพสูง ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หุ้นกู้เอกชนคุณภาพสูง และ Agency MBS ซึ่งมีอันดับเครดิตเฉลี่ย AA ซึ่งทนทานหากเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ด้านอัตราผลตอบแทน (Yield) อยู่ระดับสูงน่าสนใจ มี Yield to Maturity ที่ 5.58% และมีอายุเฉลี่ยของพอร์ตการลงทุน (Duration) อยู่ที่ 6.02 ปี ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ Yield ปรับลดลง ส่งผลดีตราสารหนี้ที่มี Duration ยาว ได้รับโอกาสรับส่วนต่างราคา Capital Gain รวมทั้งกองทุนหลักยังมีความผันผวนระดับต่ำ Volatility 5 ปีอยู่ที่ 4.95% และ 10 ปีอยู่ที่ 4.00% และผลงานของกองทุนหลักในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว, ถดถอย สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น และยังได้รับ Morningstar 4 ดาว ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลังสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) สูงกว่าดัชนีชี้วัด (BM) ได้อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ปี 2551
บลจ.เอ็มเอฟซี ยังมองในจังหวะนี้กองทุน MUBONDUH ที่ไม่มีนโนบายป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน มีโอกาสรับผลตอบแทนแบบจัดเต็ม 2 ต่อ โดยต่อที่ 1 รับกำไรส่วนต่าง (Capital Gain) จากการปรับลงของดอกเบี้ย ซึ่งพอร์ตการลงทุนของกองทุนมี Duration ยาวถึงประมาณ 6 ปี ทำให้มีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่า ในช่วงดอกเบี้ยขาลง ส่วนต่อที่ 2 รับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) จากค่าเงินบาทไทยแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ค่า RSI เริ่มเข้าสู่โซนOversold ซึ่งมีโอกาสให้เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าขึ้นได้
นอกจากนี้กองทุนยังแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1.) ชนิดจ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ต้องการรับผลตอบแทนจากเงินปันผล และ 2.) ชนิดสะสมมูลค่า สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ต้องการรับรายได้จากส่วนต่างการลงทุน ซึ่งกองทุนจะนำผลประโยชน์จากการลงทุนไปลงทุนต่อ โดยผู้สนใจสามารถลงทุนได้ขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท กองทุนมีความเสี่ยงระดับ 4 (ปานกลางค่อนข้างต่ำ)