นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน(Association of Investment Management Companies – AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทยเปิดเผยถึงมติที่ประชุมที่ประกอบด้วยคณะกรรมการAIMCและคณะอนุกรรมการ ESG Policy and Collective Actionสำหรับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน(ThaiESG)และกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย(ThaiCG)มั่นใจทุกบริษัทจัดการ (บลจ.)มีความพร้อมในการบริหารจัดการต่อปัญหาบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน)(EA)และมีมติจัดให้หลักทรัพย์ของEAอยู่ในRestricted Listจำกัดการทำธุรกรรมและห้ามมิให้มีการลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมีความชัดเจนในแนวทางการดำเนินงานของบริษัทโดยจะติดตามความคืบหน้าของบริษัทอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าการประกอบธุรกิจของEAยังคงดำเนินต่อได้
“สำหรับกรณีEAนั้นปัจจุบันการถือครองหุ้นและตราสารหนี้EAโดยกองทุนรวมทุกประเภทมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การจัดการที่ผ่านมาผู้จัดการลงทุนได้ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้EAมาโดยลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีสัญญาณความผิดปกติของราคาในส่วนหุ้นกู้EAด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของตราสารการปรับลดสัดส่วนการลงทุนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ในการนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน บลจ. จึงได้นำเครื่องมือบริหารสภาพคล่องกองทุนรวม(Liquidity Management Tools –LMTs)ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมตามแนวทางสากลมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุน (Redemption Gate)ที่จำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุนสูงสุดในแต่ละวันเพื่อชะลอการขายคืนทรัพย์สินที่กองทุนได้ลงทุนไว้และการคัดแยกหุ้นกู้EAออกจากทรัพย์สินหลักของกองทุนรวม (Side Pocket)เพื่อนำมาบริหารจัดการต่างหาก โดยหุ้นกู้EAในส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคำนวณมูลค่าNAVผู้ถือหน่วยยังคงซื้อขายกองทุนหลักได้ตามปกติ และเมื่อมีการขายทรัพย์สินส่วนที่ได้มีการside pocketเอาไว้ออกไปในอนาคตบริษัทจัดการก็จะคืนเงินให้ผู้ถือหน่วยต่อไปทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้กองทุนไม่ต้องเร่งขายหุ้นกู้EAออกไปในราคาที่ไม่เหมาะสมหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นการดำเนินการโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์และความยุติธรรมให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเชื่อว่าผู้จัดการกองทุนมีการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลในการลงทุนในหลักทรัพย์EAในส่วนThaiESGซึ่งลงทุนในหุ้นยั่งยืนSET ESG Ratingsนั้นปัจจุบันมีหุ้นจำนวน196บริษัท และEAเคยได้รับการจัดอันดับในSET ESG Ratingsด้วยนั้น ในทางปฏิบัติผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นทุกบริษัทขึ้นอยู่กับการพิจารณาคัดเลือกและการกระจายการลงทุนเชื่อมั่นว่าผู้จัดการกองทุนทุกคนทำหน้าที่อย่างมืออาชีพในการวิเคราะห์ คัดเลือก และติดตามการลงทุนปัญหาEAที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของESGนั้น ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดทุนไทย แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนจึงต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง มีกระบวนการรองรับ ตรวจสอบและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล องค์กรกลาง หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่รับรองและสอบทานข้อมูลบริษัทจัดอันดับ ผู้สอบบัญชีผู้จัดการกองทุน ไปจนถึงตัวแทนขายที่ได้รับการแต่งตั้งฯลฯ เพื่อให้กระบวนการต่างๆมีพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์สามารถปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุนและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง”นางชวินดากล่าว