xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯชี้Q2หุ้นส่อปรับฐาน เปิดตัวคัมภีร์การลงทุนรู้ลึกก่อนใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด(บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ตามที่ บลจ.กสิกรไทย ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบลจ.ชั้นนำระดับโลก J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) ในฐานะ Strategic Partnership โดยหนึ่งในความร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การสรุปมุมมองการลงทุนแบบเชิงลึกผ่านบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน ภายใต้ชื่อ “KNOW THE MARKETS SERIES” ซึ่งประกอบไปด้วย 1) KNOW THE MARKETS จับทิศเศรษฐกิจโลก ส่องทุกตลาดเงินตลาดทุน ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ โดยจะนำเสนอในรูปแบบ Chart อธิบายภาพเศรษฐกิจ

2) STANDPOINT QUARTERLY ปักหมุดจุดที่น่าสนใจลงทุน พร้อมบทวิเคราะห์เจาะลึกจาก CIO บลจ.กสิกรไทย โดยจะนำเสนอในรูปแบบการวิเคราะห์ในแต่ละตลาดตามประเภทสินทรัพย์ทั่วโลก และ 3) MONTHLY BEST IDEAS โฟกัสเหตุการณ์ ตามติดประเด็นร้อน ชวนมองมุมใหม่เพื่อจุดประกายไอเดียการลงทุน

นายวจนะกล่าวต่อไปว่า สำหรับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 2/2024 จาก STANDPOINT QUARTERLY บลจ.กสิกรไทย มองว่าในไตรมาส 2 เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอาจจะมีการปรับฐาน หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงต้นปี ประกอบกับการที่ตลาดกำลังพิจารณาข้อมูลใหม่ๆ อาทิ เงินเฟ้อที่ไม่ได้ปรับตัวลงเร็ว และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดเคยคาดไว้ในช่วงต้นปี ทำให้ในไตรมาสนี้ ตลาดหุ้นอาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวยังคงแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง โดยไม่กระจุกน้ำหนักการลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือ ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งเป็นจุดเด่นของหลักการลงทุนนี้ที่หาไม่ได้จากหลักการลงทุนอื่นๆ
 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลงสู่เป้าหมาย 2% ของ Fed ตอกย้ำทิศทางเศรษฐกิจในลักษณะ Soft Landing ซึ่งส่งผลให้ทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เศรษฐกิจหลักของประเทศอื่นๆ มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน เริ่มจากยุโรปที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ตัวเลข GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2023 ถูกปรับประมาณการขึ้น สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดี ด้านตลาดหุ้น คาดว่าในไตรมาส 2 อาจเห็นการพักฐานในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย ที่ปัจจุบันระดับ Valuation (Forward P/E) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี แต่ในระยะถัดไป เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดียยังคงน่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่น
 
“ตลาดตราสารหนี้เผชิญปัจจัยกดดันจากตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด และทำให้ตลาดเลื่อนโอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed ออกไป โดยแม้ปัจจุบันตลาดมีการปรับมุมมองเข้ามาใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed มากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดความผันผวนของราคาตราสารหนี้ต่อจากนี้เริ่มลดลง แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปบ่งชี้ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยไม่ได้ในปีนี้ ก็อาจจะทำให้ราคาตราสารหนี้ผันผวนได้ อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ยังคงมีความสำคัญในการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ประกอบกับดอกเบี้ยของ Fed จะเข้าสู่วัฏจักรขาลงในระยะถัดไป จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการทยอยเข้าลงทุน” นายวจนะกล่าว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น