นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงแนวทางการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2567 ว่า นักลงทุนควรกระจายการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลในสถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง เพื่อให้ไม่พลาดทั้งโอกาสและความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้
บลจ.อีสท์สปริงมีกองทุนที่แนะนำสำหรับติดพอร์ตจำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วยกลุ่มกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ลดลง ได้แก่ กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Information Technology (ES-USTECH) กองทุนเปิดทีเอ็มบี India Active Equity (TMBINDAE) กองทุนเปิดอีสท์สปริง GIS Global Bond (ชนิดสะสมมูลค่า) (ES-GF) และสำหรับกองทุนที่แนะนำลงทุนเพื่อลดความผันผวนจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้แก่ กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Multi Asset Income (ES-GAINCOME)
บริษัทมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง และมีโอกาสเกิด soft landing หากมีการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งผลบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนตลาดอินเดียเชื่อว่ามีโอกาสได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้นในปีนี้ โดยอัตราการเติบโตของกำไรในตลาดหุ้นอินเดียยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว จากปัจจัยด้านวัยแรงงาน เงินลงทุนจากต่างประเทศ และการเมืองที่มีเสถียรภาพส่วนการลงทุนในตราสารหนี้อีสท์สปริงมองว่าตราสารหนี้โลกมีความน่าสนใจ ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสําคัญ จาก Dot Plot ของ Fed คาดว่าปี 2567 จะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้ง และในปี 2568 คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 5 ครั้ง ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อตราสารหนี้โลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี สหรัฐฯ ย้อนหลังช่วง 10 ปีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4.1%
“กองทุนสุดท้ายนี้เหมาะสำหรับกระจายการลงทุนจากความเสี่ยงหลักในปีนี้ ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีต่อเนื่องในปีนี้ตั้งแต่สงครามในตะวันออกกลาง ความไม่สงบในทะเลแดง รวมถึงนโยบายหาเสียงของสหรัฐฯ ที่น่าจะมุ่งเป้าไปที่จีนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวขึ้นอีกครั้ง และกดดันธนาคารกลางทั่วโลกต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ยนอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงมีการฟื้นตัวไม่เท่ากันอยู่ในหลายภูมิภาค” นายยิ่งยงกล่าว