นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมี AUM เติบโตรวมทั้งสิ้น 350,000-360,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบได้อีก 5-10%
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 บลจ.ทิสโก้มีกองทุนรวมภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 160 กองทุน แบ่งเป็น กองทุนเปิด (Open-end Fund) 91 กองทุน กลุ่มกองทุนเพื่อการออมเงินระยะยาว ได้แก่ กองทุน SSF RMF LTF และ RMF for PVD จำนวน 60 กองทุน กองทุนทริกเกอร์ 9 กองทุน มูลค่า AUM 54,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่มี AUM อยู่ที่ 53,696 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่า AUM อยู่ที่ 72,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่มี AUM อยู่ที่ 72,717 ล้านบาท
ช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าออกทริกเกอร์หุ้นไทยต่อเนื่อง เนื่องจากความผันผวนของตลาดจึงมีจังหวะให้ทำกำไรได้ ที่ผ่านมาเน้นกลยุทธ์หุ้นเติบโตได้อย่างท่องเที่ยว, สุขภาพ กลุ่มที่ราคาปรับลงมาเยอะ โดยเลือกเป็นรายตัว อย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, ปิโตรเคมี เน้นรายตัวและรอราคาเป็นหลัก สำหรับกองทุนแนะนำครึ่งปีหลัง หุ้นไทยแนะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นกลุ่มอื่น และกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการท่องเที่ยว
ได้แก่ TISCOHD, TISCOWB กองทุนต่างประเทศแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กองทุนหุ้นปันผล และกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ ได้แก่ TGHDIV, TUSBOND, TUSTECH, TISCOCH ทั้งนี้ สำหรับกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ 5 ดาวของบริษัท ได้แก่ TISCOEGF, TEGRMF-B, TEGRMF-P, TISCOLTF-B, TDLTF-A, TISCODS, TDSLTF-A, TDSLTF-B, TISCOHD-A, THDRMF กลุ่มหุ้นชนาดกลางและเล็ก ได้แก่ TSF-A
นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้บริหารสายงานจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า สำหรับมุมมองการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นโดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,600 จุด แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.3% แต่ยังคงต้องจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งราคาหุ้นแต่ละอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพื่อสะท้อนผลกระทบด้านบวกและลบจากนโยบายที่ออกมา นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่จะมีผลโดยตรงต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
จากปัจจัยดังกล่าวจึงมองว่าการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังควรเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว เช่น โรงพยาบาล ค้าปลีก และท่องเที่ยว และกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากแล้วตั้งแต่ต้นปีและราคาได้สะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับการลงทุนต่างประเทศ บลจ.ทิสโก้มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงในระยะสั้น เป็นโอกาสในการทยอยลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ หุ้นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) เพราะราคาหุ้นที่ยังเหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ
ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจจากความแข็งแกร่งของบริษัทและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ AI ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เริ่มมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และเริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นจีนจากระดับ มูลค่าหุ้น (Valuation) ที่น่าสนใจ