ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
ในปีที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่สภาพอากาศนั้นมีความแปรปรวน และมีความรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง, คลื่นความร้อนในยุโรป ไฟป่าทั่วโลก น้ำท่วมในอินเดียและปากีสถาน และการละลายของธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาอย่างรวดเร็วระดับน้ำแข็ง ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อน และคาดว่าในปีนี้อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1-1.3 องศาเซลเซียส ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินั้นจะสูงกว่าระดับของกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ 1.5 องศาเซลเซียส สถานการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องมีความจริงจังมากขึ้นในการลดปริมาณ Carbon Emission ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในปี 2021 นั้นทั่วโลกมีปริมาณ Carbon Emission จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงและจากอุตสาหกรรมมากถึง 3.6 หมื่นล้านตัน โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% จากปริมาณ 2.14 หมื่นล้านตันในปี 1990 และประเทศจีนเป็นประเทศที่มีปริมาณ Carbon Emission 1.19 หมื่นล้านตัน ซึ่งปริมาณที่ว่านี้มากกว่าสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศที่มีปริมาณ Carbon Emission เป็นอันดับสองถึงสองเท่า นอกจากนี้แล้ว ตามเป้าหมายของจีนปริมาณ Carbon Emission ที่ถูกปล่อยออกมานั้นจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดในปี 2030 ในปัจจุบันจีนมีการพึ่งพาพลังงานมากกว่า 80% จากถ่านหิน, น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศจีนเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งจีนได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นร้อยละ 20 (จากร้อยละ 16 ในปี 2020) นอกจากนี้แล้วประเทศจีนยังมีการตั้งเป้าหมายให้เป็นประเทศ Carbon Neutral ในปี 2060 โดยการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้นั้นประเทศจีนมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้มาอยู่ระดับร้อยละ 80 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด (เพิ่มสูงขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2020) และพลังงานที่ได้จากถ่านหินนั้นต้องลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 5
ในส่วนของพลังงานหมุนเวียนนั้น พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตามแผนที่ประเทศจีนตั้งไว้ พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนใหญ่จะมาจากสองแหล่งนี้ (แผนภาพที่ 2) นอกจากประโยชน์ที่จะได้จาก Carbon Emission ที่ลดน้อยลงแล้ว ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ยังมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานจากถ่านหิน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศจีนยังคงมีสัดส่วนในการใช้พลังงานสะอาดต่ำกว่าระดับร้อยละ 20 แต่ว่าถ้าพิจารณาถึงความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว ประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสูงที่สุด และจากแผนการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ Carbon Neutral นั้น ประเทศจีนจะยังคงเป็นผู้นำในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างที่ไม่มีประเทศไหนเทียบได้
เรามองว่าธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดในประเทศจีนนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นประเทศจีนเป็นผู้นำในการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิตSolar Cell และ Solar Inverter (แผนภาพที่ 3) แม้ว่าประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ นั้นจะมีการให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากปริมาณการบริโภคและกำลังการผลิตของห่วงโซ่อุปทานที่แตกต่างกันมาก ทำให้ barrier to entry สำหรับการผลิต Solar Cell นั้นอยู่ในระดับสูงมาก และเป็นไปได้ยากที่จะแข่งขันกับประเทศจีนถ้าไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐที่มากเพียงพอ
แม้ว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้นจะไม่มากเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ และประเทศต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ นั้นมีความนิยมในการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามาก แต่ประเทศจีนก็ยังเป็นประเทศที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมมากที่สุดในโลกในปี 2020 โดยมีการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าใหม่ถึงร้อยละ 58 ของการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าใหม่ทั่วโลก และเมื่อพิจารณาถึงการผลิตกังหันลมไฟฟ้านั้น ประเทศจีนก็ยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ครอบครองตลาดเหมือนกับตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ก็ตาม โดยผู้ผลิตรายใหญ่ 10 ใน 15 รายนั้นเป็นบริษัทจากประเทศจีน
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดนั้นจะยังคงมีการเติบโตที่ดีในระยะข้างหน้า และมีความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้นำทั้งในด้านของผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ กองทุนที่ลงทุนใน Sector Fund และ Thematic Theme นั้นจัดเป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมและเป็นกองทุนที่มีการลงทุนที่มีการกระจุกตัวสูง และมีความผันผวนมากกว่ากองทุนทั่วไป โดยจัดเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน