หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง รวม 4.50% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา (ข้อมูล ณ 14 มีนาคม 2566) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น จากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลก นำโดย สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเปลี่ยนกลับมาดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปี 2566
ในช่วงปลายปี 2565 นักลงทุนโดยส่วนใหญ่ คาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง (Mild Recession) ในช่วงกลางปี 2566 อย่างไรก็ตาม มุมมองได้เปลี่ยนไป โดยข้อมูลจาก Bloomberg ณ 14 มีนาคม 2566 ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาส 60% ที่จะเกิดภาวะเศรฐกิจถดถอย ลดลงจาก 68% ในเดือนมกราคม 2566 หลังจากที่ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ขนาดเศรษฐกิจของภาคบริการ คิดเป็น 80% ของจีดีพีสหรัฐฯ) ประกอบกับการเปิดประเทศของจีน และวิกฤตพลังงานในยุโรปคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Goldman Sachs พบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จำนวน 11 รอบ นับตั้งแต่ปี 1965-ปัจจุบัน นโยบายการเงินที่เข้มงวดนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Hard Lading) จำนวน 3 ครั้ง และ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) จำนวน 3 ครั้ง
แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ถึงโอกาสที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0% มาสู่ระดับสูงกว่า 5% จะไม่ส่งผลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจากตารางข้างต้น มีจำนวน 6 ครั้งใน 11 ครั้งที่เศรษฐกิจชะลอลงจนถึงถดถอยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด เมื่อตลาดคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเลื่อนออกไป และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะขยับสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ 5.50% หรือ 5.75% (จาก Fed Fund Implied Rate ในรูปด้านล่าง) ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นไปในระดับสูงขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมหรือไม่และการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังน่าสนใจลงทุนไหม
ที่มา: Bloomberg, ThaiBMA ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566
จากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าโอกาสที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลง ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งของสหรัฐฯและของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.51% ไปอยู่ที่ 3.93% ในขณะเดียวกันพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.52% ไปอยู่ที่ 2.59% ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงโอกาสที่เศรษฐกิจจะดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้และดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นก่อนจะถึงรอบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะไม่เคลื่อนไหวตามทิศทางของพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ขนาดของการปรับขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่จำเป็นต้องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เสมอไป (แม้ว่าส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันก็ตาม) หากมองจากความสัมพันธ์ในอดีต มีหลายช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ได้แก่ ปี 2544 ช่วงปี 2547-2548 ช่วงปี 2560-2563 และช่วงปี 2565-ปัจจุบัน เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ได้แก่ เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทย และ เสถียรภาพทางการเงินของไทยมากกว่า (และจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระยะของการฟื้นตัว และไม่ได้ส่งสัญญาณของการขยายตัวร้อนแรงแบบของสหรัฐฯ ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนมากกว่าความแข็งแรงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค) ทำให้คาดว่าระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในรอบนี้จะอยู่ในระดับ 1.75%-2.00%ต่อปี (จากระดับปัจจุบันที่ 1.50% ต่อปี) แล้วเช่นนี้การลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังมีความน่าสนใจอยู่ไหมนั้น คงต้องตอบว่าเป็นระดับที่น่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากระดับของผลตอบแทนพันธบัตรไทยในระดับปัจจุบัน ได้สะท้อนการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปใกล้จุดสูงสุดแล้ว (ณ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปีอยู่ที่ 1.87% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2.50%) โดยนักลงทุนสามารถเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวได้มากขึ้นเพื่อให้ได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับสูง (carry) ให้ได้นานที่สุด นอกจากนั้นตราสารหนี้ภาคเอกชนก็มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้นเช่นกันเนื่องจากโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดน้อยลงในประเทศไทย ทำให้ความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้ลดลง โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งทางตรงและผ่านกองทุนรวมที่บริหารโดยมืออาชีพ ขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาการลงทุนก่อนลงทุนทุกครั้ง เพื่อให้การลงทุนสร้างความมั่งคั่งภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้