xs
xsm
sm
md
lg

อีสท์สปริงชี้ศก.จีน-เอเชียฟื้นตัวดี ชูลงทุนหุ้นโลก Low Volatility สู้ตลาดผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2566 จะยังคงมีความผันผวนอยู่ จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลัง และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์  โดยมองว่าเศรษฐกิจจีนและเอเชียในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตได้ดีกว่าทื่อื่น จากนโยบายการเปิดประเทศของจีนเมื่อต้นปีผ่านมา และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่สหรัฐและยุโรปเติบต่ำกว่า 1-1.5% ส่วนเอเชียหลายประเทศได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เช่น สิงคโปร์  เวียดนาม รวมทั้งไทย ในขณะที่อินเดียและอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์จากการกระจายห่วงโซ่อุปทานเพื่อหนีการพึ่งพาจากจีน

“ขณะนี้เราเริ่มเห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปี 66 ซึ่งโดยปกติตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนได้ดีทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง  โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ” นางสาวดารบุษป์กล่าว

ด้านนาย Bill Maldonado  Chief Investment Officer, Eastspring Investments (Singapore) กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นทุกภาคฝ่ายให้ความสนใจและระดมทุนในนวัตกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เข้าเรื่อง Net Zero ทำให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมาก โดยจีนจะเป็นผู้นำการผลิตระบบพลังงานแสงอาทิตย์และครองห่วงโซ่อุปทาน อินโดนิเซียสร้างสวนอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นที่รองรับอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น ผลิตแผงแสงอาทิตย์, แบตเตอรี่ลิเธียม  และมาเลเซีย อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทดสอบอัตโนมัติ ทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดขยะได้ นอกจากนี้ ยังจะเห็นบริษัทมีการออกนโยบาย ESG และมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัท มากกว่าใช้เงื่อนไขทาง ESG ในการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น

สำหรับแนวทางการลงทุนของบลจ.อีสท์สปริงในปี 2566 นี้  จะเน้นการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนหลากหลาย โดยมีธีมการลงทุนทั้งในส่วนของกองทุนต่างประเทศและกองทุนในประเทศ สำหรับกองทุนต่างประเทศนั้นประกอบด้วย 1.หุ้นกลุ่ม defensive ทั้งหุ้นปันผล, หุ้นผันผวนต่ำ รวมถึงหุ้นคุณภาพดีที่มีรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมอ และมีผลการดำเนินงานไม่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจมาก จึงเหมาะกับการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) 2. เน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชีย 3.ตราสารหนี้โลกคุณภาพดี และ 4.การลงทุนที่เน้นถึงความยั่งยืน (ESG)  ขณะที่กองทุนในประเทศ  ได้แก่ 1.หุ้นปันผลและหุ้นขนาดใหญ่ 2.หุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีและพันธบัตรรัฐบาล และ 3.ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทย (REITs) ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มทรงตัว รวมถึงอัตราผลตอบแทน (yield) และส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (yield spread) อยู่ในระดับน่าสนใจราว 6.5%, 3.5% ตามลำดับ

ดังนั้นเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีในการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จึงร่วมกับ Eastspring Investments (Singapore) เปิดตัวกองทุนเปิด Eastspring Global Low Volatility Equity (ES-LOVE) ที่เน้นลงทุนในหุ้นโลกโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พอร์ตโดยรวมมีความผันผวนต่ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลง  พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีเมื่อตลาดปรับตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอขายนักลงทุนที่สนใจระหว่างวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2566 มูลค่า 5,000 ล้านบาท

กองทุนเปิด Eastspring Global Low Volatility Equity  มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ กองทุน Eastspring Investment Global Low Volatility Equity Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class C Acc USD ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80% ในรอบบัญชี กองทุนหลักจะเน้นการลงทุนในหุ้นทั่วโลกโดยใช้ปัจจัยเชิงปริมาณโดยให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและโมเมนตัมที่ดี ซึ่งมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นโลก MSCI Ac World ด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่า โดยจะคัดเลือกหลักทรัพย์ประมาณ 250-350 เข้าพอร์ตลงทุนจากหุ้นทั่วโลกที่มากถึง 15,000 ตัว สำหรับกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเน้นลงทุนได้แก่ กลุ่มสุขภาพ, สื่อสาร,  สินค้าจำเป็น เป็นต้น  
“จุดเด่นของ Eastspring Investment Global Low Volatility Equity Fund อยู่ที่การคัดเลือกหุ้นในพอร์ตซึ่งจะตั้งต้นจากจำนวนหุ้นที่มากถึง 15,000 ตัวจากดัชนี S&P BMI Index ซึ่งจะสร้างโอกาสลงทุนได้ดี ประกอบกับทีมงานที่บริหารกองทุนดังกล่าวมีประสบการณ์เฉลี่ยราว 16 ปี  นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลยุทธ์ดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับ ดัชนีชี้วัด MSCI AC World Minimum Volatility Index  โดยจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 2.96% และ 1.62% ตามลำดับ ในขณะที่ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 5.48% และ 4.57 % ตามลำดับ รวมถึงมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากในช่วงตลาดขาลง กลยุทธ์ดังกล่าว ฯ จะปรับตัวลงตามตลาดประมาณ 59% ขณะที่ตลาดขาขึ้นจะปรับตัวตามตลาดประมาณ 71% (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2565) นางสาวดารบุษป์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น