xs
xsm
sm
md
lg

เราผ่านจุดต่ำสุดไปหรือยัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมานั้นดูจะสร้างความกังวลให้นักลงทุนได้ไม่น้อย โดยปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพการลงทุนนั้นยังคงเป็นปัจจัยเดิมที่ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ไม่ว่าจะเป็น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ รวมไปถึงเศรษฐกิจจีนที่เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการ lock down ท่ามกลางความผันผวนนั้นมักจะมีโอกาสในการลงทุนและเรามักจะได้ยินคำว่า Buy on dip อยู่เสมอ แต่คำถามที่สำคัญคือเราผ่านช่วงที่แย่ที่สุดไปแล้วหรือยัง

ในด้านแรงกดดันทางเงินเฟ้อนั้นเราเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง โดยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นปรับตัวลงมาอยู่ที่ 8.3% ลดลงจาก 8.5% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขที่ออกมานั้นยังสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ที่ 8.1% ด้วยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ราคาพลังงานเริ่มมีการปรับตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ตัวเลข core inflation ส่งผลต่อท่าทีของ Fed ไม่น้อยว่าจะรบมือกับแรงกดดันทางเงินเฟ้ออย่างไร ในตอนนี้นั้น Fed ยังคงตั้งเป้าที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วง 3 เดือนข้างหน้ารวมไปถึงการลดขนาดงบดุลตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนยานเป็นต้นไป หากเร่งใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงตัวจนเกินไปก็อาจส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือนำไปสู่ภาวะ Stagflation ที่เงินเฟ้อยังสูง สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาแพงขึ้นแต่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโต

อีกฟากที่เราต้องคอยระวังเป็นพิเศษคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจจีนเองนั้นมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับโลกได้ หากเราไปดูตัวเลขอย่างยอดส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นได้ชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาฝั่งการผลิตภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปลอดโควิดและส่งผลไปยังห่วงโซ่อุปทานในหลายธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การบริโภคในประเทศที่ลดลงตาม จุดเปลี่ยนสำคัญนั้นคงหนีไม่พ้นว่าทางรัฐบาลจีนจะเปลี่ยนท่าทีต่อมาตราการปลอดโควิดหรือไม่หากเศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบและส่งผลให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถโตได้ตามเป้า นอกจากนี้แล้วรัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างไร

ตัดมาที่ฝั่งยุโรป ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงยืดเยื้อและยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เศรษฐกิจยุโรปยังคงชะลอตัว โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลกระทบต่อสายการผลิตในภูมิภาคส่งผลให้การส่งออกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทาง ECB แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวแต่ตัวเลขเงินเฟ้อก็สร้างแรงกดดันเช่นเดียวกัน โดยทาง ECB ก็ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม

การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนั้นนอกจากความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนของหลายสินทรัพย์ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่ล้นตลาด แต่ภาพตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าความผันผวนต่อภาพการลงทุนจะยังคงมีอยู่มากในช่วงสองถึงสามเดือนข้างหน้า สิ่งที่ท้าทายต่อภาพการลงทุนมากที่สุดคงหนีไม่พ้นธนาคารกลางแต่ละที่จะรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างไรครับ

โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น