โดย ดร. ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)
ตั้งแต่เริ่มปี 2565 นักลงทุนมีความกังวลอย่างต่อเนื่องกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ผันผวน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดไว้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยมีปัจจัยทั้งการระบาด COVID19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการตามห่วงโซ่อุปทาน เกิดการหยุดชะงักและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกดดันให้ธนาคารกลางที่สำคัญหลายประเทศใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จากปัจจัยลบรุมเร้าดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มจะคลี่คลายไปในทิศทางใด วิเคราะห์ปัจจัย โอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน
ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยลบที่ลดลงและปัจจัยบวกมาหนุนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและทรงตัวในระดับสูงก่อนจะค่อยๆปรับลดลง เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนแม้ว่าจะยืดเยื้อแต่น่าจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้และอาจจะคลี่คลายลง ส่วนเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในจุดต่ำสุดแล้วและจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง จากมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และแรงกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน Household Consumption Credit Impulse ตลอดจนการผ่อนปรนนโยบาย Zero COVID ที่มีปัญหาการปิดเมือง (Lockdown)จากการระบาดโควิด รัฐบาลจีนได้มีการเซ็นสัญญากับ Pfizer-Paxolvid ซึ่งเป็นยาที่สามารถรักษาโควิดได้ดี ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจของจีนและเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง
อนึ่งราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ และผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่น่าจะคลี่คลายลง
ตลาดหุ้นไหนดี โอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน โดยรวมหุ้นต่างประเทศยังถือว่ามีราคาไม่แพง ดัชนีหุ้นโลกมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรในอีกหนึ่งปีข้างหน้า(Forward P/E) อยู่ที่ 18 เท่า หรือคิดเป็น Equity Risk Premium (อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหลังหักอัตราเงินเฟ้อ) อยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10ปี อยู่ที่ระดับ 7.0-7.8% ต่อปี โดยหุ้นนอกสหรัฐอเมริกา มี Forward P/E อยู่ที่ 13.7 เท่า และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ มี Forward P/E อยู่ที่ 12.1 เท่า ถือว่าต่ำกว่าดัชนีหุ้นของสหรัฐขนาดใหญ่ S&P500 ที่มี Forward P/E อยู่ที่ 19.7 เท่า ดังนั้นหุ้นนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว และการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐในครึ่งปีหลัง หุ้นขนาดเล็ก(Small Market Capitalization) ของสหรัฐในดัชนี S&P Small Cap 600 มี Forward P/E อยู่ที่ 14.4 เท่า ซึ่งถูกกว่าดัชนีหุ้นสหรัฐขนาดใหญ่ S&P500 และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลกำไร(Earnings) ของหุ้นขนาดเล็กจะเติบโตได้มากกว่าผลกำไรหุ้นขนาดใหญ่ ในอีก 1 ปีข้างหน้า และในระยะยาว
หุ้นคุณค่า(Value Stocks) น่าสนใจลงทุนกว่าหุ้นเติบโต(Growth Stocks) ที่ให้ผลตอบแทนสะสมสูงกว่าหุ้นคุณค่า 60% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ผลตอบแทนดังกล่าวมีที่มาจากตลาดยินดีซื้อหุ้นที่ราคา Forward P/E ที่สูงขึ้น มากกว่ามาจากอัตราการเติบโตของกำไรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากมองภาพระยะยาวหุ้นคุณค่ายังคงถูกกว่าหุ้นเติบโตอยู่มาก โดยเฉพาะหุ้นคุณค่าในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตของกำไรที่เพิ่มขึ้นมากกว่า หุ้นคุณค่าอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นธนาคารพาณิชย์ยุโรปที่มี Forward P/E อยู่ที่ 7.9 เท่า และมีโอกาสที่จะฟื้นตัว ถ้าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนดีขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่หุ้นอาจปรับฐานหนัก ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงต่อเนื่องและธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ จากสถิติที่ผ่านมา หากเงินเฟ้อกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีสูงเกินกว่า 3.6% ต่อปี จะส่งผลให้ดัชนีหุ้น S&P500 ร่วงลงแรงท่ามกลางความผันผวน หรือทุกวิกฤตมักมีโอกาสการลงทุน แต่นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จควรศึกษาและพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจไขว่คว้าโอกาสลงทุน เพื่อทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตอย่างสอดคล้องกับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก
หมายเหตุ ข้อมูล Forward P/E Ratio จาก Bloomberg Analyst Consensus ณ. 31 มีนาคม 2565
ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ถือเป็นการแนะนำการลงทุน ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผู้เขียน