นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด (บลจ.วรรณ) เปิดเผยว่า ในปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้ความต้องการสินค้าต่างๆ ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถจะผลิตทันตามความต้องการ เกิดปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain disruption) ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนทำให้ธนาคารกลางของประเทศหลักหลายรายต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และ อังกฤษ (BOE) เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยนั้นอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน
จากปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น มีความผันผวนสูง ซึ่งบลจ.วรรณ มองเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นเติบโตและพื้นฐานดีในช่วงที่ตลาดปรับตัวย่อลง แต่ในแง่ของการจัดพอร์ตการลงทุนที่ดี บริษัทยังคงแนะนำให้จัดสรรสินทรัพย์การลงทุนในพอร์ตให้มีความหลากหลาย ดังนั้น การลงทุนสินทรัพย์ตราสารหนี้ ยังคงเป็นอีกส่วนที่กระจายการลงทุนของพอร์ต ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ Investment Grade อาจจะยังให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงมากนัก จึงควรมีการปรับพอร์ตการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ให้มีตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond เพื่อรับผลตอบแทนที่ดีเพิ่มขึ้น ดังนั้น บริษัทฯแนะนำ กองทุนเปิด วรรณ ตราสารหนี้ไทย 2Y ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-TFIN2Y-AI) ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ซึ่งจะเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2565 ซื้อได้ครั้งเดียวเฉพาะช่วง IPO เท่านั้น ซื้อเพิ่ม/ขายคืนระหว่างอายุโครงการไม่ได้ คาดผลตอบแทนรวมหลังหักค่าใช้จ่ายที่ 6.80% (3.40% ต่อปี) จากอายุโครงการ 2 ปี โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าสินทรัพย์การลงทุน ซึ่งจัดสัดส่วนการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่สามารถลงทุนได้ (Investment grade) และตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non–Investment grade) หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ (unrated)
“การลงทุนในตราสารหนี้ Non–Investment grade หรือ unrated bond (Hight Yield Bond) นับว่ามีความเสี่ยง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการรับการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงิน อาจจะด้วยปัจจัยที่ต่างกัน แต่การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีพอร์ตผสมระหว่างตราสารหนี้ระดับที่ลงทุนได้ (Investment grade) และ เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับต่ำกว่า Investment grade (ต่ำกว่า BBB-) รวมถึงตราสารหนี้ของบริษัทที่ไม่ได้จัดทำอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bonds) ถือเป็นการลดความเสี่ยงระดับหนึ่ง หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ Hight Yield Bond โดยตรง รวมทั้งเป็นตราสารหนี้ที่บริษัทจัดการได้พิจารณาแล้วว่าแม้ไม่มีการจัดอันดับแต่มีความน่าเชื่อถือและสามารถลงทุนได้” นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุด ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งเกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ของไทยจึงไม่น่ากังวลการขาดทุนในระยะสั้นเหมือนกับในต่างประเทศ กองทุนฯ ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ที่ประมาณ 2 ปี ซึ่งถือว่าไม่นานจนเกินไป ช่วยลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างทางก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดอายุสัญญาได้ ขณะที่อายุเฉลี่ยของหุ้นกู้ Investment grade ของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ราว 3 ปีขึ้นไปและมีผลตอบแทนต่อปีใกล้เคียงกันกับกองทุนของบริษัทแล้วแต่ความเสี่ยง
ปัจจุบัน การลงทุนใน High Yield Bond ประเภท Unrated ของไทยมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) อยู่ที่ประมาณ 6.25% - 7.50% โดยมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้อยู่ 1-3 ปี (ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ 28 ก.พ. 2565) ถึงแม้ว่า High Yield Bond จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า Investment Grade Bond แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในอดีตของ High yield bond ค่อนข้างโดดเด่นอย่างมาก โดยจากข้อมูลสถิติในอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของ Bloomberg Global High Yield Total Return Index อยู่ที่ประมาณ 4.92% ซึ่งมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงใน Bloomberg Global Aggregate Corporate Total Return Index ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.63% ดังนั้น บริษัทมองว่าการลงทุนบน High Yield Bond มีความน่าสนใจและสามารถนำมาเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนบนตราสารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ