xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างไรเมื่อเงินเฟ้อเริ่มมา....และอัตราดอกเบี้ยยังไม่ขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รัตติกาล พูนวศินมงคล
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

หลังจากสามสัปดาห์แรกของปี 2565 ประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อยกว่าการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 คือประเด็นค่าครองชีพและแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเกิดโรคระบาด และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาเนื้อไก่ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนรวมถึงไข่ไก่และราคาก๊าซหุงต้มก็ยังทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ยังยืนอยู่ในระดับสูงเนื่องจากภาวะอุปทานน้ำมันที่ประเทศในสมาชิกกลุ่มโอเปกบางส่วนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามโควตาจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ยังไม่น่าจะบรรเทาได้ในระยะเวลาอันสั้น คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อฟื้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมที่ขยายตัว 2.2% YoY และตลอดปี 2564 ที่ขยายตัว 1.2% YoY 

สาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านต้นทุน (Cost-Push Inflation) ซึ่งแตกต่างจากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่เงินเฟ้อเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Demand-Pull Inflation) ทำให้ FED ต้องเร่งดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว ผ่านการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) รวมถึงมีแผนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Runoff) ในปี 2565 ดังนั้น จากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับประเด็นดังกล่าวคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน

หุ้นที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากภาวะดังกล่าว เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (จากราคาขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น) กลุ่มอาหาร-เกษตร (จากราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น) ในขณะที่กลุ่มค้าปลีกภาวะเงินเฟ้อนั้นจะส่งผลดีต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของผู้ประกอบการที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (Grocery Retailers) เนื่องจากสามารถปรับขึ้นราคาขายสินค้าได้ตามสภาวะเงินเฟ้อได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มากขึ้นเนื่องจากมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าน้อยกว่าร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) จากการที่ได้ประโยชน์ในแง่ของการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของผลกระทบต่ออัตรากำไรมีน้อยเนื่องจากผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้เกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ หากต้องการสร้างพอร์ตเพื่อเอาชนะภาวะดอกเบี้ยต่ำการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูง (High Dividend) นั้นถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน จากการศึกษาในอดีตย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2014 หลักทรัพย์ในกลุ่มที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูง หรือหลักทรัพย์ที่อยู่ในการคำนวณดัชนี SET High Dividend 30 Index (SETHD) ซึ่งเป็นดัชนีที่มีการคัดเลือกหุ้น 30 ตัวจาก SET 100 ที่อยู่ในรอบเดียวกัน โดยเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีอัตราการจ่ายปันผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี อีกทั้งมี Dividend Payout Ratio เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ไม่เกิน 100% นั้นพบว่าอัตราผลตอบแทนจาก SETHDTRI ช่วง 1-4 เดือนก่อนที่หลักทรัพย์จะมีการขึ้นเครื่องหมาย XD นั้นจะให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า SETTRI 0.2%-2% โดยช่วงระยะเวลาการถือครองหลักทรัพย์ 4 เดือนจะให้อัตราผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูงสุดโดยเฉลี่ย 6.2% ดังนั้นในช่วงเดือนมกราคมถือเป็นช่วงระยะเวลาที่ดีของปีในการที่นักลงทุนจะคัดเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี ประกอบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจเข้าไว้ในพอร์ตการลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น