นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศรวม 8 กองทุน โดยกำหนดจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 26 ต.ค. 2564 จำนวน 5 กองทุน แบ่งเป็น
สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563-วันที่ 30 ก.ย. 2564 จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ SCBGPROP (ชนิดจ่ายเงินปันผล) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.7773 บาท มีการจ่ายระหว่างกาลแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 และวันที่ 21 ก.ค. 2564 จำนวน 0.2500 บาท และ 0.1145 บาทตามลำดับ เหลือจ่ายงวดนี้ 0.4128 บาท (ครั้งที่ 11) รวมจ่ายปันผลแล้ว 1.7905 บาทต่อหน่วย กองทุนนี้เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF World Real Estate Securities ใน REITs และหุ้นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Property - Indirect Global ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564) และ SCBNK225D (ชนิดจ่ายเงินปันผล) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.9184 บาท มีการจ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 จำนวน 0.2854 บาท เหลือจ่ายงวดนี้ 0.6330 บาท (ครั้งที่ 14) รวมจ่ายปันผลแล้ว 4.4971 บาทต่อหน่วย กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั้งหมดและหุ้นที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิกเกอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิกเกอิ 225 และจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Japan Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564)
“จากภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลให้การลงทุนในตลาดโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกยังคงมีการขยายตัวได้ดี ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์การเงินของกลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งอย่างมากเนื่องจากมีระดับหนี้สินค่อนข้างต่ำ รวมถึงภาวะดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้สินทรัพย์กลุ่มนี้มีความน่าสนใจในการลงทุน ด้วยอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว อีกทั้งยังมีสัดส่วนของ REIT ในกลุ่ม New Economy สูงกว่า 50% ทำให้มีอัตราการเติบโตของกำไรในระดับค่อนข้างสูง และในส่วนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมองว่า หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ระลอกล่าสุดได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลบวกต่อการเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เป็นการช่วยผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ยังคงมีความล่าช้าในการเปิดเมือง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดยังไม่ฟื้นตัวมากนักเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่น ประกอบกับความเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาด โดยให้การสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินและการคลัง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มช้ากว่าประเทศอื่น ในขณะที่ Valuation ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก” นางนันท์มนัสกล่าว
และสำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2564-วันที่ 30 ก.ย. 2564 จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ SCBLEQ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.3977 บาท (ครั้งที่ 10) รวมจ่ายปันผลแล้ว 2.1363 บาทต่อหน่วย SCBLEQ-SSF (ชนิดเพื่อการออม) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.2800 บาท กองทุนมีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio โดยจะทำการคัดเลือกหุ้นในพอร์ตที่มีคุณภาพดี มีความผันผวนต่ำ ราคาน่าสนใจ มีการกระจายการลงทุนในหุ้น 70-90 ตัว ไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มไอที การเงิน เฮลท์แคร์ และสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น และ SCBLTSEA-2020 (ชนิดจ่ายปันผล-2020) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.0100 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ที่มีพื้นฐานดี มั่นคง และมีแนวโน้มในการเจริญเติบโตสูง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมาอีก 3 กองทุน ประกอบด้วย SCBPMO (ชนิดจ่ายปันผล) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีพื้นฐานดี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต ทั้งยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564) จ่ายปันผลในอัตรา 1.200 บาท (ครั้งที่ 6) รวมจ่ายปันผลแล้ว 4.8200 บาทต่อหน่วย และสำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ได้แก่ SCBEQ-SSFX (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) กระจายการลงทุนในหุ้นไทยในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยจ่ายปันผลในอัตรา 0.1000 บาท (ครั้งที่ 2) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.9000 บาทต่อหน่วย และ SCB70-SSFX (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) กระจายการลงทุนในตราสารทุน REITs กองทุนอสังหาริมทรัพย์/โครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 65-70% และในตราสารหนี้และเงินฝากประมาณ 30% เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพและลดความผันผวนของพอร์ต จ่ายปันผลในอัตรา 0.1000 บาท (ครั้งที่ 2) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.7000 บาทต่อหน่วย
นางนันท์มนัสกล่าวเพิ่มเติมในส่วนของตลาดหุ้นไทยว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในการเปิดประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นขนาดใหญ่ ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เป็นตัวสนับสนุนต่อภาคการส่งออกของประเทศไทย นอกจากนี้ แรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มออกจากเอเชียเหนือโดยเฉพาะประเทศจีนจากความกังวลเรื่องมาตรการควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐ ทำให้กลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาคอาเซียนก็เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การลดวงเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนชั่วคราวได้ แต่ก็คาดว่าจะไม่สร้างความกังวลต่อนักลงทุนมากนัก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการสื่อสารให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาหุ้นในปัจจุบันก็ได้สะท้อนถึงปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว นอกจากนี้ เรื่องของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้