นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนจากนี้ไปจนถึงช่วงสิ้นปี จะยังคงเห็นเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระดับที่สูง ทำให้เศรษฐกิจดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังยังเอื้ออำนวย
สำหรับนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศแล้วว่า อาจจะเริ่มการลดซื้อสินทรัพย์สภาพคล่อง (QE Tapering) ภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยทันที หลังจากจบการทำ QE Tapering เป็นการส่งสัญญาณว่า นโยบายการเงินยังคงเกื้อหนุนตลาดหุ้นต่อไปทำให้เงินลงทุนวิ่งเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นอยู่
ด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ยังคงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินหน้าโครงการใหญ่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ เช่น โครงการลงทุนนวัตกรรมและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงาน 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และงบประมาณช่วยเหลือสังคม 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป
นายสันติ กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เติบโตตามขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น จากสถิติย้อนหลัง 94 ปี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 69 ปี และให้ผลตอบแทนเป็นลบ เพียง 25 ปี ดังนั้น ถ้าลงทุนแบบมีวินัยในระยะยาว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้
ส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 20 เท่า ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับสูง แต่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตขึ้น ทำให้ P/E ค่อยๆ ลดลงได้ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสภาพคล่องสูง มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดีมากที่สุดในโลก นักลงทุนจึงควรมีไว้ในพอร์ตลงทุน
“ที่ผ่านมา มีผู้ที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา สอบถามเข้ามาว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมามากแล้ว ยังเข้าลงทุนได้หรือไม่ และราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของหุ้นสหรัฐฯ แพงเกินไปหรือยัง กองทุนบัวหลวงแนะนำว่า ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในสหรัฐฯ ต่อเนื่องได้ เพียงแต่การจับจังหวะเป็นเรื่องที่ยาก จึงควรใช้กลยุทธ์ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และเลือกกองทุนที่บริหารงานเชิงรุก (Active Management) เพื่อช่วยคัดเลือกหุ้นที่มีมูลค่าไม่สูงเกินไป และมีโอกาสที่ผลประกอบการจะเติบโตที่ดีได้” นายสันติ กล่าว
สำหรับ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้ อาจจัดพอร์ตลงทุนในสหรัฐฯ ได้สูง เช่น ลงทุนในสัดส่วน 60% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม ในจำนวนนี้สามารถแบ่งสัดส่วนลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) เป็นการลงทุนหลักของพอร์ต 30% และอีก 30% ลงทุนเสริมในพอร์ตด้วยกองทุนที่ลงทุนตาม Theme ที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ Theme เหล่านี้ก็มีหุ้นสหรัฐฯ อยู่
ทั้งนี้ กองทุน B-USALPHA ลงทุนผ่านกองทุน JPMorgan Funds - US Growth Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยส่วนที่เหลือ ผู้จัดการกองทุนของบลจ.บัวหลวง สามารถคัดเลือกลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยตรงได้ โดยกองทุนนี้เน้นลงทุนทั้งหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูง และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่ กองทุนตาม Theme ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีคุณภาพดี มีโอกาสเติบโต กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ (B-FUTURE) ลงทุนในหุ้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยผู้จัดการกองทุน ปรับน้ำหนักการลงทุนหมวดอุตสาหกรรม หรือตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้ (B-GTO) ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่มีนวัตกรรม หรือใช้นวัตกรรมทำให้ธุรกิจเติบโต และกองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) ลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อาคารประหยัดพลังงาน พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น