xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันนี้นักลงทุนในประเทศไทยมีความรู้ความเข้าใจและตื่นตัวต่อการลงทุนมากขึ้น มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและมองหาโอกาสในการลงทุนอยู่ตลอดเวลา โดยการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและกำลังได้รับความนิยมสูง เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กว้างขึ้นแล้ว ยังช่วยให้กระจายความเสี่ยงไม่ให้การลงทุนไปกระจุกอยู่ที่บางประเทศหรือบางภูมิภาคได้อีกด้วย ซึ่งประเทศหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการลงทุนในขณะนี้ คือ ประเทศจีน

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วประเทศจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา มีการเติบโตในทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งเกิดจากการเติบโตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะและด้านอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรามองถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคระบาด COVID-19 ในปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากมหาศาลแต่กลับสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และสามารถดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่สร้างโอกาสการลงทุนในประเทศจีนนอกเหนือจากสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอก นั่นคือ การที่มีจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มากกว่า 1,000 ตัว ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และยังส่งผลให้ตลาดมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับตลาดทุน แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนการลงทุนในประเทศจีน นั่นก็คือ ประเภทของหุ้นจีน ถ้าจะแบ่งประเภทของหุ้นจีนง่ายๆ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนและซื้อขายในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น หรือที่เรียกว่า A Shares ซึ่งในตลาดเซี่ยงไฮ้เป็นตลาดที่มีบริษัททางการเงินจดทะเบียนอยู่มาก ส่วนตลาดเซินเจิ้นจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี บริษัทที่คุ้นหู เช่น Ping An Insurance และ ICBC Bank เป็นต้น

2. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศจีนแต่ซื้อขายในฮ่องกง หรือที่เรียกว่า H Shares หุ้นที่เรามักจะได้ยินชื่อ เช่น Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ผลิตแอปพลิเคชัน WeChat

3. หลักทรัพย์ที่ซื้อขายในสหรัฐอเมริกา เช่น Alibaba และ JD.com บริษัท E-Commerce ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก

โดยทั่วไปการลงทุนในจีน ผู้จัดการกองทุนมักจะใช้ MSCI China หรือ MSCI China All Shares เป็นดัชนีเทียบวัดขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละผู้จัดการกองทุน โดยทั้ง 2 ดัชนีมีส่วนประกอบของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในทั้ง 3 ตลาดที่กล่าวมาข้างต้น โดยข้อแตกต่างระหว่าง 2 ดัชนีนี้ คือ การให้น้ำหนักของหุ้น A Shares จากตารางข้างล่างจะเห็นได้ว่า MSCI China All Shares นั้นให้น้ำหนักกับหุ้น A Shares ประมาณ 40% แต่ MSCI China มีเพียง 12%

ด้วยพื้นฐานในเชิงตลาดทุนของประเทศจีนที่มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในวิธีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ คือการลงทุนแบบ Factor Investing คือการลงทุนโดยใช้คุณลักษณะบริษัทที่สามารถอธิบายได้เชิงปริมาณ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เชื่อว่าสามารถอธิบายผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในอนาคตได้ ตัวอย่างปัจจัย (Factor) สำคัญๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการลงทุน เช่น Value (หลักทรัพย์มีมูลค่าถูกเมื่อเทียบกับราคาพื้นฐาน), Quality (หลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานที่ดีในเชิงของงบการเงิน เช่น กระแสเงินสดและมีผลกำไรที่ดี), Momentum (หุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในอดีต มีโอกาสจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต) เป็นต้น ซึ่งการลงทุนในระยะยาวด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

จากกราฟด้านล่างแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสะสมของ MSCI China All Shares และปัจจัยต่างๆ ในช่วงตั้งแต่ ธ.ค. 2016 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงหลังๆ มานี้ Quality และ Momentum จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า Value และดีกว่าดัชนีชี้วัด MSCI China All Shares

เมื่อเราย้อนไปดูในอดีตเราจะเห็นได้ว่าโดยธรรมชาติแล้วปัจจัยแต่ละตัวก็จะสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนแต่ละปัจจัยตามช่วงเวลา หรือที่เรียกว่า Factor Rotation

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น