xs
xsm
sm
md
lg

ESG Investing เรื่องที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รินรดา นรากรพิจิตร์
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ในแวดวงการลงทุนในปัจจุบันมีการพูดถึงและผลักดันเรื่องการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) อย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การที่ ตลท.ได้เพิ่มข้อมูลคะแนน ESG ของหุ้นรายตัวลงเว็บ Settrade อีกทั้ง ตลท.ก็มีนโยบายให้บริษัทจดทะเบียนต้องเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูล ESG ในรายงานประจำปี 2564 จริงๆ แล้วทาง ตลท.ก็มีการผลักดันด้าน Governance มามากกว่า 20 ปีแล้ว เช่น การก่อตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในปี 2542 หรือ 2 ปี หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

นักลงทุนก็คงอยากทราบว่าแล้วการลงทุนโดยดูปัจจัย ESG ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนทั่วไปจริงหรือไม่ บทวิเคราะห์แต่ละสำนักก็สรุปแตกต่างกันไป บ้างก็ว่ากองทุน ESG ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด บ้างก็ว่าให้ผลตอบแทนแย่กว่าตลาด เหตุผลที่ผลออกมาต่างกันก็อาจเป็นเพราะจริงๆ แล้วในโลกนี้ก็ยังไม่ได้มีมาตรฐานสากลของ ESG ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องประเมินอย่างไร ดังนั้น คะแนน ESG ของหุ้นแต่ละตัวที่ประเมินโดย ESG rating agency แต่ละแห่งก็ไม่ได้สอดคล้องกันนัก ดังนั้น หุ้นที่ rating agency หนึ่งนับว่าเป็นหุ้น ESG ก็อาจจะไม่ใช่หุ้น ESG ของอีกที่หนึ่ง สรุปคือยังไม่มีอะไร guarantee ว่าการลงทุนแบบ ESG จะชนะตลาดหรือไม่ ซึ่งประเด็นความไม่สอดคล้องของคะแนน ESG ของ rating agency ชื่อดังแต่ละแห่งนี้ตรงกับรายงานจากมหาวิทยาลัย MIT ที่พบว่าคะแนน ESG หุ้นรายตัวที่ประเมินโดย ESG rating agency ต่างสำนักไม่ได้มี correlation กันมากนักด้วยหลายสาเหตุ เช่น rating agency หนึ่ง ประเมินการปฏิบัติต่อลูกจ้างจากตัวเลขอัตราการลาออก ในขณะที่อีก agency หนึ่งให้คะแนนจากจำนวนคดีที่ลูกจ้างฟ้องร้องบริษัท หรือการที่บาง rating agency นับการล็อบบี้เป็นหนึ่งในปัจจัยประเมิน ESG แต่บางที่ไม่นับ (การล็อบบี้ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเชิงลบหรือแปลว่าการติดสินบน ในยุโรปการล็อบบี้ถือเป็นการที่องค์กรเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยภาครัฐกำหนดนโยบาย)

ส่วนเหตุผลว่าทำไมแม้ในหุ้นที่ rating agency ต่างเห็นพ้องกันและให้คะแนน ESG สูง ก็อาจไม่ชนะตลาด อธิบายได้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น บริษัทที่มีเงินและสามารถรวบรวมข้อมูล ESG เช่น ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนต่อยอดขาย ก็จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ดำเนินกิจการมานานและมีงบเพียงพอที่จะเอาไปลงกับด้าน ESG ซึ่งก็ไม่แปลกที่อัตราการเติบโตจะต่ำเพราะบริษัทใหญ่ ฐานกำไรก็สูงแล้ว เทียบกับบริษัทเล็กที่กำลังเติบโตสูง อาจจะต้องใช้เงินไปโฟกัสกับการลงทุนเพื่อการเติบโตของกำไรเป็นหลัก อีกทั้งที่จริงโดยหลักการแล้วการลงทุนก็เป็นเรื่องของ risk-reward และถ้าเชื่อในแนวคิดตลาดที่มีประสิทธิภาพ ก็หมายถึงนักลงทุนได้รับรู้ (price-in) ความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัทต่างๆ เข้าไปในราคาแล้ว เว้นแต่ว่าผู้ให้คะแนน ESG จะเห็นความเสี่ยงเหล่านี้ก่อนตลาดรับรู้

ในเมื่อ ESG ส่งผลดีต่อโลกใบนี้ แต่ไม่ได้ guarantee ผลตอบแทนที่ดีกว่า แล้วจะทำอย่างไรให้นักลงทุนหันมาสนใจ ESG อย่างจริงจัง ผู้เขียนมองว่ามีสองภาคส่วนหลักที่สามารถทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

1.) ภาครัฐ/ธนาคารกลาง
ในต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่การลงทุนแบบ ESG จริงจังขึ้นมาได้ก็ด้วยความร่วมมือของผู้กำหนดนโยบาย เช่น ล่าสุด European Investment Bank ประกาศว่าภายในปี 2564 จะหยุดปล่อยกู้ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนเกิน 250 กรัมต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั่วไปจะไม่ผ่านเกณฑ์การขอกู้ การกู้ไม่ได้นั้นแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทและผลกำไรโดยตรง ซึ่งผู้ถือหุ้นก็จะโดนกระทบไปด้วย การออกมาตรการอย่างจริงจังจากทางผู้กำหนดนโยบายเช่นนี้ถึงจะส่งผลให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนแบบ ESG สำหรับในไทยนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนในการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐ เช่น การให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder / FiT) กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

2.) นักลงทุนสถาบัน
ในต่างประเทศนั้นเทรนด์การลงทุน ESG เติบโตอย่างชัดเจนมากในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ในปี 2006 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมของสถาบันที่ลงนามสนับสนุน “หลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment : PRI)” ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ ณ ปัจจุบัน AUM รวมนั้นเกิน 80 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว อีกทั้งข้อมูลจาก Morningstar แสดงให้เห็นว่า AUM ของกองทุน ESG (Sustainable Fund) 300 กองในอเมริกามีเงินใหม่ไหลเข้าอย่างก้าวกระโดดในปี 2562 หรือคิดเป็น 4 เท่าของเงินไหลเข้าปี 2561
(ตามภาพด้านล่าง : ที่มา Morningstar) ในต้นปีที่ผ่านมา BlackRock บริษัทจัดการกองทุนที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารมากที่สุดในโลก ราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบง่ายๆ คือใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP สหรัฐฯ) ก็ออกมาประกาศว่าจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนแบบ ESG โดยคำนึงถึง ESG rating ไม่น้อยไปกว่า credit rating

จากเทรนด์การลงทุนแบบ ESG ในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นข้างต้น ก็หมายความว่า fund flow ของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศจะต้องไหลเข้าหุ้น ESG และก็อาจเป็นการสนับสนุนให้ราคาหุ้นเหล่านั้นปรับตัวสูงขึ้น

ในทางเดียวกัน การผลักดัน ESG Investing ในไทยก็ต้องอาศัยความร่วมมือของนักลงทุนสถาบันไทย ซึ่งทางกองทุนไทยต่างๆ ก็ได้เริ่มความร่วมมือนี้ไปแล้ว เช่น เมื่อปลายปี 2562 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับนักลงทุนสถาบัน 32 ราย รวมถึง บลจ. MFC ของเราด้วย ได้ร่วมลงนามแนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อระงับการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งถือเป็นขั้นแรกที่สำคัญเพื่อยกระดับการลงทุนของไทยสู่การลงทุน ESG แม้ปัจจุบันกองทุน ESG และ CG ในไทยจะมีเพียงแค่ 26 กองทุน คิดเป็น AUM รวมกันเพียง 3 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าดูในแง่การเติบโต กองทุน ESG กำลังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น เทียบกับเมื่อ 7 ปีที่แล้วที่มีกอง ESG/CG เพียง 4 กองเท่านั้น สำหรับ บลจ. MFC นั้น ในการบริหารกองทุนทั่วไปที่ไม่ได้มีนโยบายหลักด้าน ESG ทางผู้จัดการกองทุนก็ได้มีการติดตามปัจจัยด้าน ESG และประเมินอย่างใกล้ชิดเช่นกัน อย่างเช่น ช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 การตัดสินใจลงทุนของ MFC ก็ได้ให้ความสำคัญต่อ ‘S’ (ด้านสังคม) ของ ESG เนื่องด้วยการระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นกระทบต่อลูกจ้างของบริษัทจดทะเบียนทั้งในแง่สุขภาพและการจ้างงาน เราติดตามกับทางบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของบริษัทได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม

ดังนั้น ความร่วมมือจากนักลงทุนสถาบันถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันความตระหนักด้าน ESG ในนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่การผลักดันจากภาครัฐก็จำเป็น โดยต้องผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆเช่น ธปท. (เรื่องสินเชื่อ/ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ) หรือกรมสรรพากร (เรื่องลดภาษี) ในอนาคตเมื่อหลายๆภาคส่วนให้ความสำคัญต่อ ESG อย่างพร้อมหน้า ESG investing จะไม่เพียงให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่น่าพอใจแก่นักลงทุน แต่ยังจะให้ความภาคภูมิใจแก่นักลงทุนที่ได้ส่งมอบโลกที่สวยงามใบนี้ต่อให้แก่ลูกหลาน


กำลังโหลดความคิดเห็น