ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงผู้ทำประกันภัย และมีการทำธุรกรรมด้านการประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่จะเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสมและตรงต่อความต้องการของตนเอง ผู้เอาประกันภัยจึงควรต้องศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง เงื่อนไขการรับประกันภัย และข้อยกเว้นต่างๆ ให้เข้าใจถูกต้องตรงกับแบบของกรมธรรม์ประกันภัยก่อนการตัดสินใจ
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจและมีระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพ สำนักงาน คปภ.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563
การดำเนินงานตามประกาศฉบับดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีแหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแบบการประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง เช่น เงื่อนไขความคุ้มครอง การจ่ายเงินผลประโยชน์ อัตราเบี้ยประกันภัย ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่สำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย และเงื่อนไขการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท เป็นต้น
ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาการตัดสินใจทำประกันภัยของประชาชน กรณีมีการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซด์ สำนักงาน คปภ. https://guruprakanphai.oic.or.th หรือเรียกว่า “กูรูประกันภัย” ในหัวข้อ “ค้นหาแบบประกันภัย” และหัวข้อ “เปรียบเทียบแบบประกันภัย” ซึ่งเป็นระบบสืบค้นที่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและข้อมูลการทำธุรกรรมประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรให้ปลอดภัย อันจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชน
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ยังได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนให้มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยผ่านระบบดังกล่าวเช่นเดียวกัน
“การพัฒนาระบบ “กูรูประกันภัย” นี้ประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และในขณะเดียวกันก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกทางการตลาดและพัฒนาช่องทางการเสนอขายของบริษัทประกันภัยแต่ละรายให้มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในโลกไร้พรมแดน” เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนท้าย