โดยคุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ในปัจจุบันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นเป็นการประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือที่เรียกกันว่า ESG โดยการใช้ข้อมูล ESG มาผนวกในการวิเคราะห์ (ESG Integration) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ข้อมูลจาก Global Sustainable Investment Review ปี 2561 แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ในการวิเคราะห์เติบโตขึ้นถึง 69% จาก 10.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2559 เป็น 17.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2561
การลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นมีการคำนึงถึงปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม หมายถึง บริษัทมีนโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท 2. ด้านสังคม หมายถึง การที่บริษัทมีนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน มีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพ และ 3. ด้านธรรมาภิบาล หมายถึงการที่บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งการลงทุนในหุ้นยั่งยืนจะต้องมีการลงทุนในหุ้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้
การลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นส่งผลอย่างไรกับตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียน? มีหลายบทความวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นเป็นผลดีต่อนักลงทุนทั้งในแง่ผลตอบแทนทางการเงินและในแง่ของการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม โดยการลงทุนในหุ้นยั่งยืนนั้นมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับการลงทุนแบบทั่วไปในขณะที่ความผันผวนนั้นต่ำกว่าตลาดเนื่องจากแนวคิดหลักที่บริษัทจะต้องมีการบริหารจัดการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการบริหารงานเพื่อผลประกอบการที่ดี ซึ่งสิ่งนี้เองน่าจะเป็นกลไกที่ดีในการช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง
โดยบทความของ Bloomberg แสดงให้เห็นว่าในปี 2562 มีกองทุนรวม ESG ในสหรัฐฯ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่าดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นการแสดงว่านักลงทุนไม่จำเป็นต้องลดผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อลงทุนแบบ ESG อีกทั้งในต่างประเทศมีการลงทุนโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่จะตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่อง ESG มากขึ้น และมีนโยบายที่จะปรับปรุงและแก้ไขเพื่อเพิ่มคะแนน ESG ให้มากขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลของ Thomson Reuters ESG Scores ตั้งแต่ปี 2550 - 2561 ส่วนคะแนน ESG ของบริษัทที่จดทะเบียนใน S&P500 มีคะแนน ESG ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เสมือนว่าการลงทุนในหุ้นยั่งยืนเป็นการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคะแนน ESG ให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนเลือกที่จะไม่ลงทุนกับบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ อาทิเช่น บริษัทที่มีกรรมการถูกฟ้องด้วยปัญหาการทุจริตอาจทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากถูกมองว่าบริษัทยังไม่มีธรรมาภิบาลที่ดีตามมาตราฐาน หรือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินซึ่งอาจถูกมองว่าไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยข้อมูลจาก BNP Paribas ESG Global Survey 2019 พบว่าในปี 2017 ผู้จัดการกองทุนจำนวน 53% คาดว่าอุตสาหกรรมการบริหารสินทรัพย์จะมีการนำ ESG Integration มาใช้มากขึ้น ซึ่งในปี 2019 ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเป็น 62% อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจะสูงถึง 90% ภายในปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะเป็นการทำให้ ESG Integration เป็นที่ยอมรับมากขึ้นและเป็นมาตราฐานใหม่ของการลงทุนในอนาคต
ในปัจจุบัน บริษัทจัดการกองทุนต่างก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ จึงได้มีการร่วมมือกับทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบของนักลงทุนสถาบัน (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบันในการลงนามแนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการประกอบธุรกิจหรือการบริหารกิจการโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG จึงได้มีบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งที่ได้จัดตั้งกองทุนประเภทนี้ ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงบริษัทที่รับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC) ซึ่งพิจารณาการกำกับดูแลกิจการที่ดีอาจพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงหลักปัจจัยด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคมเป็นสำคัญ ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
นอกจากการลงทุนในหุ้นยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีความใส่ใจในปัจจัยเหล่านี้มากขึ้น นักลงทุนยังมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอีกด้วย โดยในอนาคต ทางบลจ. ไทยพาณิชย์ มุ่งหวังที่จะส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาลที่ดี ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดและเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นอีกแรงผลักดันไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราต่อไปครับ