xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตหรือโอกาสการลงทุนตราสารหนี้จากสงครามการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด



ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคงไม่มีใครปฏิเสธว่า “สงครามการค้า” ส่งผลกระทบต่อใครหลายคนทั้งทางตรงและทางอ้อม มากบ้าง น้อยมากแตกต่างกันไป วันนี้ผมจึงขอย้อนที่มาของสงครามการค้าและผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

หลังจากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 ทรัมป์ได้ดำเนินนโนบายต่างๆ ตามที่เคยได้ประกาศในช่วงหาเสียงไว้และหนึ่งในนั้นก็คือนโยบายทางการค้า ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์เรียกร้องจากประเทศคู่ค้า คือ “การค้าที่เป็นธรรม” โดยวิธีการที่สหรัฐฯ นำมาใช้ คือ การเข้าไปดูตัวเลขนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ พบว่ามีหลายประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อาทิเช่น กลุ่มประเทศยุโรป แคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยจีนถือเป็นประเทศที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด โดยข้อมูล ณ ปี 2018 สหรัฐฯ นำสินค้าเข้าจากจีนเป็นมูลค่ากว่า 540 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียงแค่ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกล่าวได้ว่าสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนอยู่กว่า 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องทำทุกทางเพื่อลดการขาดดุลการค้าและวิธีการที่ทำได้ก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะประเทศจีน และสหรัฐฯ ยังต้องการให้บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไปตั้งฐานการผลิตในจีนเนื่องจากค่าแรงงานที่ต่ำกว่าหันกลับมาตั้งฐานการผลิตที่สหรัฐฯ โดยอ้างว่าจีนได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไปตั้งฐานการผลิตที่จีน เพราะจีนบีบบังคับให้บริษัทที่ไปลงทุนในประเทศตนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย

สงครามการค้าเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยสงครามการค้าลุกลามจากการตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าจีน สู่สงครามสินค้าเทคโนโลยี (tech war) และล่าสุดสู่สงครามค่าเงิน (currency war) ทั้งสองประเทศก็ผลัดกันประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาบนสินค้านำเข้าที่เหลือเกือบทั้งหมด ในปี 2019 นี้เอง สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 25% มูลค่ากว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จีนได้ตอบโต้โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อีกประมาณ 60 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีกรณีของ Huawei ที่สหรัฐฯ ประกาศว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมจาก Huawei เป็นภัยต่อความมั่นคงส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากจีนได้ รวมไปถึงการแบนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนม เช่น กล้อง CCTV ฯลฯ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมณฑลซินเจียง กรณีของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ สำหรับการตอบโต้จากจีนก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน เช่น การจำกัดการส่งออกแร่หายาก รวมไปถึงการที่ทางการจีนจัดทำบัญชีดำ บุคคล-บริษัทต่างชาติที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ FedEx ยักษ์ใหญ่ในการขนส่ง ล่าสุด ทรัมป์ประกาศเลื่อนขึ้นภาษีสินค้าจีนในอัตรา 30% ออกไปเป็นกลางเดือนตุลาคม ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรแห่งจีนเปิดเผยว่า ทางการจีนตัดสินใจจะนำเข้า “ถั่วเหลือง” ของสหรัฐฯ มากขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 10 ระวางเรือ หรือประมาณ 600,000 ตัน หลังจากที่การเจรจาทางการค้าระหว่างผู้แทนของจีนและสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางบวก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 มีข้อโต้แย้งกัน ผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ส่งผลเสียเพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (supply chain) ทั้งหมดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ได้ลุกลามต่อเนื่องไปยังตลาดการเงินและตลาดทุน โดยนักลงทุนบางส่วนเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่น ตราสารทุน และย้ายมาลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าและยังคงให้ผลตอบแทนที่แน่นอน ทำให้มีแรงซื้อเข้ามากดดันตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารต่างๆ เนื่องจากทั่วโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากสงครามการค้าที่ไม่มีทีท่าที่จะยุติลง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก โดยถ้าดูจากอัตราผลตอบแทนรวมของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1-10 ปี ในปี 2019 จนถึง 26 กันยายนที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนกว่า 6% เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนรวมของราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET Total Return Index ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 8% ในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าตราสารทุนกลับให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน ชี้ให้เห็นว่าในวันที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า นักลงทุนยังมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพึงพอใจจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ ยังคงเป็นความคืบหน้าในการเจรจาระหว่าง 2 มหาอำนาจ โดยตลาดตราสารหนี้จะยังคงได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนในกรณีที่สงครามการค้ายังไม่สามารถหาจุดตรงกลางของการเจรจาการค้าได้ หรือกรณีเลวร้ายที่สุด คือ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้และสถานการณ์รุนแรงขึ้นโดยต่างฝ่ายต่างตอบโต้กัน อย่างไรก็ดี หากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหาข้อสรุปกันได้ จะเป็นกรณีที่ดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและเป็นสัญญาณให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตราสารทุนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้มีแรงขายในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง แต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น