xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบจากสงครามทางการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย ประพาส ตันติพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส จำกัด

ในบทความครั้งที่แล้วผมได้กล่าวถึงปัจจัยภายในประเทศที่นักลงทุนควรจับตา ได้แก่ ผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศอยู่ไม่น้อย ปัจจัยกดดันที่ว่านั้นหนีไม่พ้นเรื่อง สงครามทางการค้าระหว่างสองขั้วอำนาจของโลก สหรัฐฯ กับ จีน อีกเช่นเคย

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้นนับว่าเป็นดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ฟื้นตัวขึ้นมา อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้มีการปรับตัวลงมาก่อนหน้า จากความกังวลด้านสงครามทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ กับจีนได้กลับมีท่าทีที่รุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่นาย Donald Trump ได้ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสำหรับสินค้ามูลค่ารวมประมาณ 200,000 ล้านเหรียญในอัตรา 25% โดยทางฝั่งจีนก็ได้มีการตอบโต้เช่นกันด้วยการประกาศว่าจะขึ้นภาษีในอัตรา 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมประมาณ 60,000 ล้านเหรียญ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วสาเหตุหลักน่าจะมาจากการปรับสัดส่วนการลงทุนของ MSCI ที่ได้มีการปรับน้ำหนักการลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ 2.4% ขึ้นมาเป็น 2.9% ส่งผลให้มีแรงซื้อขาย รวมถึงการเก็งกำไรในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้วปัจจัยทางด้านพื้นฐานทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของทิศทางตลาดหุ้นไทยต่อไป

เมื่อเราลองกลับมาย้อนดูพัฒนาการในเรื่องของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าการเจรจาของทั้งสองฝั่งยังคงไม่ได้ข้อสรุปที่หนักแน่นและชัดเจนพอที่จะคลายกังวลให้แก่นักลงทุนได้เลย ทุกๆ ครั้งที่ทุกอย่างดูเหมือนจะลงเอยไปด้วยดีแต่ไม่นานนักเราก็กลับมาเผชิญกับความผันผวนอีกเช่นเคย นอกเหนือไปจากจีนแล้ว มาตรการกีดกันทางการค้าผ่านการขึ้นภาษีนั้นได้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อใช้ต่อรองต่อประเทศอื่นๆ อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก ญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป

เหตุผลหลักที่นักลงทุนควรเฝ้าระวังคือผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากเราลองไปดูดัชนีอย่าง ISM Manufacturing index และ PMI มีแนวโน้มอ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นเชิงประจักษ์ นอกจากนี้แล้ว ดัชนีชี้วัดเหล่านี้ยังเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่เราพอจะสามารถคาดการณ์แนวโน้มอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจะอ่อนตัวลงเช่นกัน ล่าสุด นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมากล่าวถึงความกังวลต่อประเด็นด้านสงครามทางการค้ารวมถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีทีท่าที่จะอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ผลกระทบของสงครามทางการค้าต่อบ้านเรานั้น เห็นได้ชัดจากตัวเลขส่งออกในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้นออกมาลดลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มที่จะยังคงชะลอตัวในไตรมาส 2 และคาดว่าจะส่งผลในเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางแล้วด้วยปัจจัยด้านสงครามทางการค้าที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้ผลิตรวมถึงนักลงทุนในจีน ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตได้เช่นกัน ส่วนในระยะสั้นนั้นคงต้องจับตาดูผลของการประชุมระหว่างนาย Donald Trump กับ Xi Jinping ในช่วงการประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 28-29 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ว่าจะสามารถหาข้อสรุปและมีอะไรที่จะผ่อนคลายความกังวลได้บ้างหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านสงครามทางการค้าคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่คอยสร้างความผันผวนต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น