โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
ทีมงาน BF Knowledge Center
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น (คณะกรรมการกองทุนฯ) โดยเงินของกองทุนมาจาก “เงินที่ลูกจ้างจ่าย เรียกว่า เงินสะสม” และ “เงินที่นายจ้างจ่าย เรียกว่า “เงินสมทบ” เงินทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำไปบริหารจัดการ ก่อให้เกิดผลประโยชน์จากเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสมทบ ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั่นเอง
นโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากไม่เป็นแบบคณะกรรมการกองทุนฯ เลือกให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน เนื่องจากเกรงว่า ลูกจ้างบางส่วนอาจไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและการลงทุน แต่หากปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นก็อาจรวมตัวกันแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าจะปรับไปเป็นแบบ Employee Choice ได้ไหม? คือเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเอง
สำหรับบริษัทที่เปิดให้เลือกนโยบายลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Employee Choice) ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะทำให้สามารถจัดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยอย่างแรกที่ควรทำก่อน คือ ศึกษานโยบายการลงทุนแต่ละกองทุนที่มีให้เลือก จากนั้นให้พิจารณาตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน? ต้องการผลตอบแทนประมาณเท่าไร?
เพราะหากต้องการได้ผลตอบแทนสูง แต่เลือกลงทุนในนโยบายตราสารหนี้อย่างเดียวเพราะกลัวความเสี่ยง ก็ไม่มีทางที่พอร์ตการลงทุนจะเป็นจริงได้ตามตั้งใจ จำไว้ว่า High Risk High (Expected) Return หากคาดหวังโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย
หากนโยบายลงทุนสอดคล้องกับความต้องการ ลำดับถัดมาที่อยากให้พิจารณาคือ สามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หรือไม่? เพราะตามปกติแล้วบริษัทมักจะกำหนดสัดส่วนการส่งเงินสะสมของพนักงานไว้ตามอายุการทำงาน โดยบริษัทจะส่งเงินสมทบในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดให้ลูกจ้างสามารถส่งเงินสะสมได้ในสัดส่วนที่มากกว่านายจ้าง แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับกองทุน คือไม่ต่ำกว่า 2% และสูงสุดไม่เกิน 15% ซึ่งหากไม่ลำบากเกินไปนักก็อยากแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนเงินสะสมให้มากขึ้น
ยกตัวอย่าง เราเริ่มต้นทำงานเมื่ออายุ 25 ปี เกษียณอายุ 55 ปี เท่ากับมีระยะทำงาน 30 ปี เงินเดือน 20,000 บาท (สมมติให้ปรับขึ้น 5% ต่อปี) ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% ของเงินเดือน บริษัทสมทบให้ 3% เท่ากัน ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ณ วันที่เกษียณจะมีเงินประมาณ 2 ล้านบาท แต่หากเพิ่มสัดส่วนเงินสะสมจาก 3% เป็น 5% โดยปัจจัยทุกอย่างเหมือนเดิม เงินจะเติบโตได้ราว 2.60 ล้านบาท และหากเพิ่มสัดส่วนเงินสะสมเป็น 10% เงินจะเติบโตได้ถึง 4.35 ล้านบาท
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า เพียงแค่เพิ่มเงินสะสมในส่วนของตัวเองก็สามารถทำให้เงินเติบโตได้มากขึ้น และหากยอมรับความเสี่ยงได้และลองปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มผลตอบแทน เช่น หุ้น จากผลตอบแทนรวมของพอร์ตเดิม 5% เป็น 8% ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนเงินสะสมในแต่ละเดือนเป็น 10% จะทำให้เงินลงทุนนี้เติบโตเป็น 7.16 ล้านบาท
การจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถทำได้ไม่ยาก หากบริษัทเปิดให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ส่วนตัวเราก็มีหน้าที่ปรับสมดุลในตัวเอง ระหว่างความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการได้รับเพื่อหาความพอดีให้กับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง แต่ก็เชื่อว่าหลายคนยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี?
ขอเพิ่มเติมข้อมูลให้ทราบว่า ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทยเสนอ “นโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Life Path)” เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะเปิดให้ลูกจ้างเลือกนโยบายลงทุนได้ด้วยตัวเอง (Employee Choice) แต่กลับพบว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมาะสม คือ เลือกลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับระยะเวลาลงทุนที่ยาวนาน หรือเลือกตามเพื่อน ตามหัวหน้า ส่งผลให้มีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ รวมถึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง จึงคิดนโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามช่วงอายุขึ้นมา
หลักการคือ ความเสี่ยงของพอร์ตจะเป็นไปตามช่วงอายุ กล่าวคือ อายุน้อยพอร์ตการลงทุนจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และลดความเสี่ยงลงตามช่วงอายุมากขึ้น จากตัวอย่างเดิมที่กล่าวมาตลอดคือ เริ่มต้นทำงานเมื่ออายุ 25 ปี เกษียณอายุ 55 ปี เท่ากับมีระยะทำงาน 30 ปี เงินเดือน 20,000 บาท ปรับขึ้น 5% ต่อปี ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% ของเงินเดือน บริษัทสมทบให้ 3% เท่ากัน
หากลงทุน 20 ปีแรก ผลตอบแทน 10%
5 ปีถัดมาลดความเสี่ยงผลตอบแทน 6%
5 ปีสุดท้ายผลตอบแทน 3% เบ็ดเสร็จแล้วได้รับเงินหลังเกษียณราว 2.73 ล้านบาท มากกว่าการนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทน 2-3% เพียงอย่างเดียวประมาณล้านกว่าบาท
ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับเป็นทางเลือกที่ดีในการบริหารเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณ จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั่นคือ "วินัยในการลงทุน และ ความรู้เรื่องการลงทุน" ซึ่งรู้มากรู้น้อยไม่เป็นไร เพราะทุกคนสามารถเพิ่มเติมความรู้และจัดสรรให้เหมาะสมกับตัวเองได้ ที่สำคัญก็คือ เริ่มต้นลงมือทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ วันนี้ รับรองว่า แฮปปี้ในวัยเกษียณแน่นอน