xs
xsm
sm
md
lg

จัดพอร์ตตามวัย ทำไงดี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
 
ปัจจุบันหลายคนพูดถึง “Asset Allocation” กันมากขึ้น และคงเคยได้ยินประโยค “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน (Don’t put all eggs in one basket)” เพราะหากใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าเดียวกัน หากตะกร้านั้นเป็นอะไรไป ไข่ก็จะเสียหายทั้งหมด โดยเปรียบเทียบไข่เป็นเงินลงทุน และตะกร้าเป็นสินทรัพย์การลงทุน หัวใจสำคัญของประโยคนี้คือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท ด้วยการจัดพอร์ตลงทุน (Portfolio Diversification)  
                
ความเสี่ยง และข้อจำกัดในการลงทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเรา ทำให้หลายคนสนใจที่จะเริ่มต้นจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายการลงทุน (ลดอาการบาดเจ็บจากการลงทุน) แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี? เพราะการจัดพอร์ตลงทุนนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยวิธีที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำคือ การจัดพอร์ตตามช่วงอายุ แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการจัดพอร์ตลงทุน อยากให้เริ่มต้นที่การจัดการตัวเองก่อน

จัดการตัวเอง

1. นิสัยในการบริหารจัดการเงินเป็นผลจากวัฒนธรรมการเงินของครอบครัว สมัยเด็กๆ เวลาพ่อแม่ให้เงินค่าขนม มักสอนเราเสมอว่า “เหลือกลับมาหยอดกระปุกด้วยนะลูก” นั่นคือ รายรับ ลบ ค่าใช้จ่าย เท่ากับ เงินออม หมายความว่า ถ้าใช้หมดก็ไม่เหลือออม แถมบางครอบครัวลูกไม่เหลือเงินกลับมาออม แต่ต้องการหยอดกระปุก จึงขอเหรียญจากพ่อแม่ ซึ่งก็คือ กู้เงิน นั่นเอง สิ่งเหล่านี้ นานวันเข้าก็จะกลายเป็นนิสัยในการใช้เงิน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างนิสัยที่ดีในการใช้เงิน เช่น กรณีนี้ ควรตั้งคำถามกับลูก (รวมถึงตัวเองด้วย) ว่าทำไม? ถึงไม่มีเงินเหลือออม และควรทำอย่างไร? เพื่อปรับให้ดีขึ้น ซึ่งคำตอบคือ ออมก่อนใช้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงทางจิตใจไปพร้อมกับการสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน

2. บางคนมองเห็นสิ่งที่เป็นไปได้ บางคนลงมือทำให้มันเป็นไปได้ (Some see what’s possible, Other change what’s possible) คำโปรยจากภาพยนตร์เรื่อง สตีฟ จ็อบส์ อัจฉริยะเปลี่ยนโลก ที่เน้นว่า การลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะในหลายครั้งพบว่าผู้ที่สนใจลงทุนหลายคนศึกษาหาความรู้มามากพอสมควร มีความสนใจเรื่องการลงทุน แต่กลับยังไม่ลงทุนสักที โดยให้เหตุผล เช่น ไม่พร้อม ไม่มั่นใจ ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน (ถ้าเป็นประเด็นเรื่องเงิน แนะนำให้กลับไปจัดการตัวเองตามข้อ 1 ก่อน) รวมถึงอยากลงทุนแล้วประสบความสำเร็จแน่นอน 100% แต่ในความจริงคือ นักลงทุนทุกคนล้วนมีประสบการณ์ในการกำไรและขาดทุนทั้งนั้น ดังนั้น อย่ากังวลใจมากเกินไป สิ่งที่อยากแนะนำคือ “ลงมือทำ” และเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆ 

ยกตัวอย่าง ผู้เขียนเมื่อเริ่มแรกลงทุนก็ยังมีความรู้ไม่มาก ไม่มั่นใจ และกลัวขาดทุน จึงเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อคุ้นเคยขึ้นมาหน่อยก็ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว เมื่อสะสมมูลค่าได้จำนวนหนึ่งก็รู้สึกมั่นคงและมั่นใจมากขึ้น  จึงสับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนหุ้นไทย ตอนนี้ก็เริ่มมีการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศบ้าง

ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงมือทำ คือ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ความกลัวเรื่องการลงทุนก็น้อยลง เริ่มสนใจข่าวสาร ลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน? รูปแบบการลงทุนที่สบายใจเป็นอย่างไร? และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดพอร์ตลงทุน

จัดพอร์ตลงทุนตามช่วงอายุ
3. การจัดพอร์ตลงทุนสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยวิธีที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำ คือ การจัดพอร์ตตามช่วงอายุ เพราะเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้โดยทั่วไป หลักการคือ ยิ่งอายุน้อย ยิ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มาก เช่น หุ้น และในส่วนที่เหลือก็ให้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แม้จะให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความผันผวน (ขึ้นๆ ลงๆ) มากเช่นกัน จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่อายุน้อย เนื่องจากมีการลงทุนระยะยาว สำหรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุก็แตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ให้คำแนะนำ โดยวิธีการคำนวณที่นิยมใช้มากที่สุดเป็นวิธีของ John Bogle (1997) คือ 100 ลบ อายุผู้ลงทุน เท่ากับ สัดส่วนการลงทุนในหุ้น เช่น ปัจจุบันอายุ 35 ปี สัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่เหมาะสม คือ 100 - 35 = 65%   
บางแนวความคิดก็น่าสนใจ โดยแบ่งเป็นช่วงอายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต 4 ช่วง ดังนี้

วัยเริ่มต้นทำงาน อายุประมาณ  20-30 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีภาระทางการเงิน จึงเป็นช่วงเวลาของการออม หรือลงทุนได้มากที่สุด สัดส่วนการออมที่แนะนำคือ มากกว่า 10% ซึ่งในส่วนนี้สามารถแบ่งไปลงทุนได้ โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงสุด 80% และควรเป็นการลงทุนระยะยาว

วัยสร้างครอบครัว อายุประมาณ 31-40 ปี วัยนี้เริ่มก้าวหน้าในหน้าที่การงานรายได้เริ่มสูงขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยภาระทางการเงินที่มากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมถึงการสร้างครอบครัว แต่งงาน และมีบุตร สัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงสุด 60% เนื่องจากเป็นวัยที่มีภาระผูกพันและมีครอบครัวที่ต้องดูแล     

วัยความมั่นคง อายุประมาณ 41-55 ปี โค้งสุดท้ายในการทำงาน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับรายได้มากที่สุด แต่ก็ตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็น ค่าจับจ่ายใช้สอยในครอบครัว การศึกษาบุตรในระดับชั้นที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของพ่อแม่ ค่าใช้จ่ายในการปกป้องความมั่งคั่ง เช่น เบี้ยประกัน รวมถึงการวางแผนเกษียณที่ไม่เริ่มต้นไม่ได้แล้ว ด้วยความรับผิดชอบหลายด้านนี้ ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่แนะนำไม่เกิน 40%

วัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป บางคนไม่มีรายได้แล้ว บางคนอาจยังมีรายได้จากบำนาญ การลงทุนในหุ้นแนะนำว่าไม่ควรเกิน 10-20% โดยตระหนักเสมอว่า การลงทุนในหุ้นนี้ หากผิดคาดเกิดสูญเงินไปจะต้องไม่กระทบกระเทือนฐานะทางการเงินโดยรวม อย่าลงทุนหนักมือเพื่อคาดหวังผลตอบแทนสูงเหมือนกับวัยรุ่น ด้วยการเงินชีวิตวัยเกษียณของตัวเองเป็นเดิมพัน แต่ครั้นจะไม่ลงทุนเสียเลย “เงินเฟ้อ” ก็อาจทำให้เงินของเราลดมูลค่าลงไปได้
                
อย่างไรก็ตาม “การจัดพอร์ตตามช่วงอายุ” เป็นเพียงแนวทางในการลงทุนที่จำเป็นต้องนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องของจำนวนเงินที่ต้องการ ระยะเวลาในการลงทุน ความสำคัญของเป้าหมาย เช่น เพิ่งเริ่มต้นทำงานมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ อยากเรียนต่อปีหน้า (เป้าหมายระยะสั้น) ไม่ควรลงทุนในหุ้นมากนัก ส่วนอีกเป้าหมายคือ เกษียณ (เป้าหมายระยะยาว) สามารถลงทุนในหุ้นประมาณ 80% สุดท้ายนี้ อย่าจัดพอร์ตกันเพลินจนลืมสำรองเงินสภาพคล่อง และเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อความไม่ประมาทด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น