สมาคมประกันชีวิตไทยเผย 6 เดือนแรกปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตไทยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 312,530.24 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.01 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 89,970.03 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8.47 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 222,560.22 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 3.68 อัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 โดยเบี้ยประกันชีวิต
รายใหม่ประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตปีแรก มีจำนวน 46,347.39 ล้านบาท (2) เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว จำนวน 43,622.63 ล้านบาท ซึ่งมาจากช่องทางธนาคารเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนร้อยละ 48.39 โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 151,236.67 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 6.13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ที่ขายผ่านช่องทางธนาคารมีการขายมากเป็นพิเศษ รองลงมาคือช่องทางตัวแทนประกันชีวิต สัดส่วนร้อยละ 44.61 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 139,415.18 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 2.35 อันดับสาม การขายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์, ระบบอินเทอร์เน็ต, เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือเดินเข้ามาซื้อด้วยตัวเอง สัดส่วนร้อยละ 4.74 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,827.25 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 34.01 และอันดับสี่ การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง สัดส่วนร้อยละ 2.26 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 7,051.13 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 10.04
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิตตั้งเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมปี 2561 ที่ร้อยละ 4-6 ตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งภาคธุรกิจยังคงยืนยันว่าในครึ่งปีหลัง กรกฎาคม-ธันวาคม 2561 จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปี 2560 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 39 แสดงให้เห็นว่าตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคุ้มครองและการวางแผนการเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่องและเหมาะสมกับบุคคลในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
การส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปถึงเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้
สำหรับทิศทางของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในอนาคตนั้น บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทได้พัฒนากรมธรรม์ประกันชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาการลงทุนในลักษณะอื่นเพิ่มเติม ประกอบกับปัจจุบันประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น จึงไม่ได้ต้องการที่จะซื้อความคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองการลงทุนอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงด้วย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Unit-Linked , Universal Life) จึงได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 5 ปีที่ผ่านมาเบี้ยประกันภัยจากผลิตภัณฑ์ควบการลงทุนในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% เมื่อเทียบกับปี 2556 หากพิจารณาเฉพาะ Unit-Linked เติบโตสูงเกือบ 4,000%
นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ (Annuity) ก็มีความจำเป็นสำหรับการวางแผนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงการวางแผนสุขภาพผ่านผลิตภัณฑ์ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ” และ “สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง” ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบันที่ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มสูงขึ้น 15-20% ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสวัสดิการในส่วนนี้ จึงมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และตอบสนองกลุ่ม Gen M หรือ Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตพร้อมกับการพัฒนาของออนไลน์และเทคโนโลยี ใช้ Social Media ทุกวัน และเป็นกลุ่มที่ทำการซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด
จากผลการแข่งขันของบริษัทสมาชิกในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงสิทธิผลประโยชน์ทางภาษีที่ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายและต้องขานรับต่อการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น กรอบการดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC2) การยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของระบบประกันชีวิต Market Conduct การยกร่างประกาศ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561
ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จำนวน 2 ฉบับ คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) จากเดิมที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เลื่อนเวลาการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ออกไปอีก 1 ปี เป็นเดือนมกราคม 2563 และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง การวัดมูลค่าหนี้สิน การรับรู้รายได้ และการเปิดเผยข้อมูล (IFRS 17) เริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2565 ซึ่งมาตรฐานการบัญชีทั้งสองฉบับจะส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตในแง่ของจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน การแสดงรายการ และการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของภาคธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และจะไปถึงเรื่องการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรองรับกับมาตรฐานการรายงานทางเงินฉบับใหม่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทย จำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
อีกทั้งยังมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจของโลกให้เปลี่ยนแปลงไป หลายๆ สิ่งถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีโฉมใหม่ที่สะดวกสบายกว่า รวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า และสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือที่เรียกว่า InsureTech เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการและการบริหารจัดการภายใน การให้บริการอย่างครบวงจรตั้งแต่การเสนอขาย การให้คำปรึกษา การจ่ายผลประโยชน์และค่าสินไหมทดแทน
ดังนั้น ต่อจากนี้ไปประชาชนจะได้เห็นการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น และแน่นอนว่าจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการดำเนินงานและบริการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและประโยชน์จากการประกันชีวิตสูงสุด