xs
xsm
sm
md
lg

สงครามการค้า : ตอนที่ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสอ่านข่าวด้านเศรษฐกิจโลกคงได้ทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘สงครามทางการค้า’ ที่กำลังร้อนระอุอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีต้นตออยู่ที่มาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ นโยบายที่ได้นำออกมาใช้ ณ ปัจจุบันมีอะไรบ้าง และทำไมสหรัฐฯ ถึงได้นำนโยบายต่างๆ นี้ออกมาใช้?

สาเหตุหลักที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกนโยบายกีดกันทางการค้าทั้งหลายนั้นก็เพื่อที่จะลดการขาดดุลทางการค้าที่สหรัฐฯ มีกับคู่ค้าหลักๆ ของตน โดยในปี 2017 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้ามากที่สุดได้แก่ประเทศจีน ที่ขาดดุลอยู่ประมาณ 350,664 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยประเทศเม็กซิโกที่สหรัฐฯ ขาดดุลอยู่ประมาณ 107,829 ล้านเหรียญ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ได้กล่าวประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า หนึ่งในจุดม่งหมายหลักของตนคือการลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนเป็นมูลค่ารวมอย่างน้อย 200,000 ล้านเหรียญภายในปี 2020

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มออกมาตรการกีดกันทางการค้าตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมาตรการแรกได้แก่การขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบเครื่องซักผ้าเป็นเวลา 3 ปี ในอัตรา 16-50% (ขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์) และการขึ้นภาษีนำเข้าแผง Solar Cell เป็นเวลา 4 ปี ในอัตรา 15-30% มาตรการดังกล่าวได้ถูกอนุมัติใช้ในเดือนมกราคม 2018 และจะมีผลต่อการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย ถัดมาในเดือนมีนาคม 2018 นาย Trump ได้ลงนามอนุมัติการขึ้นภาษีการนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมในอัตรา 10% เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ รัฐบาลจีนได้เพิ่มอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ ในอัตรา 15-25%

มาตรการกีดกันทางค้าที่สหรัฐฯ ได้นำออกมาใช้ล่าสุดนั้นได้มุ่งเน้นไปที่จีนเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเทศที่ทางสหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าสูงที่สุด มาตรการดังกล่าวเป็นการขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ ในอัตรา 25% โดยสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์การขนส่ง ยานพาหนะ และได้มีผลบังคับใช้สำหรับสินค้ามูลค่าประมาณ 34,000 ล้านเหรียญไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา ในขณะที่ทางฝั่งจีนนั้นก็ได้มีการตอบโต้ในทันทีด้วยการออกมาตรการทางด้านภาษีในมูลค่าเท่ากัน โดยภาษีของจีนนั้นได้มุ่งเน้นไปที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่รวมถึงอาหาร สินค้าทางการเกษตร และรถยนต์ นอกจากนี้แล้ว ประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้ขู่ที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรปขึ้นเป็น 20% จาก 2.5% ด้วย ล่าสุดสงครามทางการค้านี้ได้ดุเดือดขึ้นเมื่อทางการสหรัฐฯ ประกาศว่าตนจะประกาศรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญที่จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% ภายในเดือนกรกฎคมนี้ โดยมาตรการดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกนำออกมาใช้ได้เร็วที่สุดภายในปลายเดือนสิงหาคม 2018 นี้

โดยรวมแล้ว ผลกระทบจากมาตการกีดกันทางการค้าที่แต่ละประเทศได้นำออกมาใช้ ณ ปัจจุบันนั้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัย การที่สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนนั้นคาดว่าจะมีผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยสู่จีน โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ นั้นอาจจะส่งผลทางลบต่อการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญ ขณะที่ภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ นั้นได้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยโดยตรง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรวมแล้วคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่มีความเสี่ยงจากมาตรการต่างๆ นั้นมีประมาณ 5,400 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 2.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมของไทยในปี 2017

ด้วยสภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ณ ปัจจุบันที่สหรัฐฯ นั้นเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่งของโลก ทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่าคู่ค้าของตนอยู่พอสมควร ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการค้าขายระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ เกินกว่า 500,000 ล้านเหรียญในปี 2017 ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนเพียงประมาณ 130,000 เหรียญในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นจีนจึงมี ‘กระสุน’ ทางด้านการค้าที่จะใช้โต้ตอบที่น้อยกว่าและคงจะต้องพึ่งมาตรการอื่นๆ แทนเพื่อโต้ตอบกับสหรัฐฯ ที่ผ่านมาความกังวลถึงผลกระทบของสงครามทางการค้าต่อเศรษฐกิจนั้นสูงกว่าสำหรับจีนและในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งเห็นได้จากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นของจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่นดัชนี SHCOMP ของจีนที่ได้ตกลงถึง 13.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันดัชนี MSCI Emerging Market ได้ปรับตัวลง 7.68% และ SET Index ของไทยได้อ่อนตัวลง 9.02% แต่ในขณะที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 1.67% อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยนั้นควรจะได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงมีการเติบโตได้ โดยในปี 2018 คาดว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวขึ้นประมาณ 8-10% และจะเป็นปัจจัยที่คอยพยุงตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้าต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น