xs
xsm
sm
md
lg

คาดประกันชีวิตปีนี้โต 4-6% สินค้าวางแผนเกษียณมาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2560 ยังคงมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตปี 2560 (มกราคม-ธันวาคม 2560) มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 601,724.69 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตถึงร้อยละ 5.89 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 433,900.13 ล้านบาท และมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 84 คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) ร้อยละ 3.89 และคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อประชากร (Insurance Density) จำนวนกว่า 9,000 บาท/คน เติบโตขึ้นร้อยละ 5.48 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายนั้น ตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางหลักและช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดย ณ สิ้นปี 2560 มีสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 49.20 ด้วยเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวน 296,046.92 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 3.08 อันดับสอง ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคาร (Bancassurance) สัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 44.90 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 270,183.40 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9.17 อันดับสาม ช่องทางการจำหน่ายผ่านการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มีสัดส่วนร้อยละ 2.45 เบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,752.34 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.78 และช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ (Other) อีกร้อยละ 3.45 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 20,743.37 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11.03 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 สมาคมฯ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 4-6 โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากเศรษฐกิจของประเทศที่จะขยายตัวดีขึ้นประมาณร้อยละ 3.6-4.6 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว และแรงขับเคลื่อนภายในประเทศจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการบริโภคของภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนดีขึ้นส่งผลให้มีการกระจายรายได้ ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของอนาคต รวมถึงมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยกรมสรรพากรได้ให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดที่ 100,000 บาท นับว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจากประกันสุขภาพระหว่างมกราคม-กันยายน ของปี 2560 จำนวน 46,337.49 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 7.42 โดยในปี 2561 นี้คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

นางนุสรายังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 ว่า ภาคธุรกิจประกันชีวิตจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการวางแผนเกษียณอายุอันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งเหมาจ่าย ความคุ้มครองโรคร้ายแรงต่างๆ อันเนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้แล้วประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนและการประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น แบบประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังมีบทบาทต่อธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และจากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปมีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยได้มีการพัฒนาช่องทางการขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมายเพื่อรองรับช่องทางการขายนี้ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถดำเนินการทำธุรกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งคาดว่าช่องทางนี้จะสามารถเติบโตได้ดีต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังต้องจับตาดูผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ (IFRS 9) ตารางมรณะ อัตราดอกเบี้ย และ Market Conduct เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น