บลจ.กรุงไทยตั้งเป้า AUM ปีจอโตอีก 1.2 แสนล้าน ดันทรัพย์สินสุทธิแตะ 8.38 แสนล้านบาท เน้นขยายฐานลูกค้ากองทุนรวมเป็นหลัก เล็งออกกองใหม่เพิ่มอีก 7 กองทุนช่วยนักลงทุนจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยง พร้อมคาดหุ้นไทยปีนี้แตะ 1,900 จุดรับอานิสงส์เศรษฐกิจไทย-โลกโตต่อเนื่อง มั่นใจหุ้นไทยยังน่าลงทุนแม้ราคาแพง เหตุสภาพคล่องในระบบยังล้น นักลงทุนหันเพิ่มลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แนะกระจายลงทุนรายอุตสาหกรรมรับผันผวน แนะกลุ่มรับประโยชน์การบริโภคและเศรษฐกิจ เลี่ยงกลุ่มสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของทรัพย์สินสุทธิ (AUM) อีก 1.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 8.38 แสนล้านบาท หรือประมาณ 18% โดยปัจจุบันบริษัทยังมีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา (2560) บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 7.14 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการยกเลิกโครงการ 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ กองทุน TRIF TCIF และ THIF แต่กำไรของบริษัทยังสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับทรัพย์สินสุทธิของบริษัทในปัจจุบันประกอบด้วย กองทุนรวม 4.98 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 8.61 หมื่นล้านบาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 8.391 หมื่นล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 4.6 หมื่นล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตจากกองทุนรวมมาเป็นอันดับแรก และมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท หรือ 14% จากการเติบโตของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Fund) และกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ที่ 8.5% ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ 32% จากการบริหารกองทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนในหลายกองทุน เช่น กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอิควิตี้ (KTEF) กองทุนระดับ 5 ดาวจาก Morningstar และเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังอยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จาก AIMC กลุ่ม Equity General และ Morningstar กลุ่ม Thailand EQ Equity Large-Cap โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 79.32% สูงกว่า Benchmark ซึ่งอยู่ที่ 30.02% ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุน เป็นต้น
ส่วนในปีนี้บริษัทยังตั้งเป้าการเติบโตจากกองทุนรวมเป็นหลัก โดยในไตรมาสแรกบริษัทมีแผนที่จะเปิดจำหน่าย 7 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนที่การจัดสรรรน้ำหนักการลงทุน (Asset Allocation) จำนวน 4 กองทุน ภายใต้ชื่อกองทุน มั่งคั่ง มีทรัพย์ ศรีศิริ สุขใจ (มั่งมีศรีสุข) และกองทุนต่างประเทศประเภท Unit Link จำนวน 3 กองทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับ ก.ล.ต. และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่นๆ อีกมากมาย โดยบริษัทกำลังดูความเหมาะสม และจังหวะในการเปิดจำหน่าย ซึ่งบริษัทจะคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุน
**ดัชนีปีจอ 1,900 จุด หุ้นไทยแพงแต่น่าลงทุน**
นางชวินดากล่าวอีกว่า ดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2560 เป็นต้นมา จากระดับ 1,560 จุด มีการปรับขึ้นกว่า 250 จุดในระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน โดยคาดว่า Downside risk ไม่น่าจะมากนักแถวๆ 1,760 จุด แม้ว่าระดับดัชนีฯ ในปัจจุบันจะอยู่ใกล้กับระดับดัชนีฯ เป้าหมายของ KTAM ที่ประมาณการไว้ที่ 1,900 จุด โดยมีสมมติฐาน P/E ที่ 18 เท่า อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าหุ้นไทยถึงแม้ปัจจุบันจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่เชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ได้
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนจะเน้นการลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภค (Domestic play) และการลงทุนในหุ้นกลุ่มแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวราคาหุ้นมักจะมีความเคลื่อนไหวผันผวนตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ก็อาจใช้โอกาสจากความผันผวนดังกล่าวเป็นการ Trading ในระยะสั้นได้ โดยหลีกเลี่ยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในด้านลบจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
“หุ้นไทยแพงมาจากสภาพคล่องที่ยังล้นในระบบ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและนักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แต่เชื่อหุ้นไทยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะมีปัจจัยหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นหลายด้าน และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้น่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 12% อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะมีความผันผวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ตลาดหุ้นสำคัญๆ มีการปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะสั้นก็อาจมีการปรับฐานหรือเกิดแรงขายทำกำไร ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยปรับพอร์ตการลงทุนให้มีการลงทุนที่กระจายตัวทั้งจำนวนหุ้นและกระจายรายกลุ่มอุตสาหกรรม” นางชวินดากล่าว