โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
โดยส่วนใหญ่แล้วการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมักจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าการลงทุนในทางปฏิบัติ อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจอยู่เสมอซึ่งอยู่บนความเชื่อที่ว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ
ในการตัดสินใจลงทุนแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนสถาบัน ล้วนผ่านขั้นตอนการได้รับข้อมูลและการวิเคราะห์จากแนวทางที่ตนถนัดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้การวิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ทางเทคนิค หลังจากนั้นก็ถึงขั้นตอนสุดท้ายก็คือ ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุน จะเห็นได้ว่าทุกขั้นตอนตั้งแต่แรกจนจบล้วนเกี่ยวข้องกับตัวนักลงทุน ซึ่งแน่นอนนักลงทุนทุกคนเป็นมนุษย์ล้วนมีอารมณ์ ความรู้สึก อันเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจไม่มากก็น้อย โดยผมขอยกตัวอย่างอคติในการลงทุนบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อผลลัพธ์ทางการลงทุนให้ท่านผู้อ่านได้พอเห็นภาพนะครับ
อคติในการตัดสินใจลงทุนอันแรกที่พบเห็นได้บ่อย คือ พฤติกรรมแห่ตามฝูงชน (Herding) การประพฤติปฏิบัติตามๆ กันของนักลงทุนที่เห็นได้ในปัจจุบัน เช่น การลงทุนในหุ้นตามเซียน กูรูทาง facebook หรือซื้อตามบทวิเคราะห์ สิ่งที่ควรระวังจากการแห่ตามกัน ก็คือจะส่งผลให้หุ้นมีมูลค่าเกินราคาเหมาะสม หรืออย่างเลวร้ายคือเกิดฟองสบู่ในหุ้นตัวนั้นเนื่องจากราคาเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าการซื้อตามคนอื่นจะผิด แต่ขอให้มีสติและตระหนักว่าจริงๆ แล้วการตัดสินใจซื้อนั้นมาจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่เพียงเพราะความรู้สึกปลอดภัยจากการทำตามผู้อื่น
ต่อมาคือ พฤติกรรมการยึดติด (Anchoring) เช่น พฤติกรรมการยึดติดในราคาหุ้นของนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น หุ้น XYZ มียอดขายเติบโตดีมากในปีที่ผ่านมาทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 10 บาท เป็น 20 บาท แต่ในปีนี้โรงงานการผลิตเกิดไฟไหม้ทำให้กำลังการผลิตหายไปเกินครึ่ง ราคาหุ้นลงมาเหลือเพียง 8 บาท นักลงทุนบางท่านมีการยึดติดว่าหุ้นเคยมีราคาที่ 20 บาท จึงเห็นว่าราคา 8 บาทเป็นราคาที่ถูกมากทั้งที่จริงๆ แล้วปัจจัยพื้นฐานได้เปลี่ยนไปแล้ว การมีอคติที่เกิดจากการยึดติดบนราคา ณ จุดหนึ่งโดยละเลยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานดังที่ได้กล่าวอาจส่งผลต่อความเสียหายต่อพอร์ตการลงทุนอย่างคาดไม่ถึงได้
ตัวอย่างของอคติทางการลงทุนที่สำคัญสำหรับนักลงทุนข้อหนึ่งก็คือ Disposition effect คือการที่นักลงทุนชอบขายหุ้นที่มีเฉพาะตัวที่มีกำไร แล้วยอมถือหุ้นที่ยังขาดทุนไว้ในพอร์ต คาดว่ามาจากการที่นักลงทุนไม่ต้องการรับรู้การขาดทุนเป็นตัวเงินจริงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเสียใจ ประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “ไม่ขายไม่ขาดทุน” สังเกตได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการละเลยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานโดยสิ้นเชิงเนื่องจากมีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีหุ้นขาดทุนที่อยู่ในพอร์ตปัจจัยพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปในทางไม่ดีแล้วซึ่งแน่นอนย่อมกระทบต่อผลตอบแทนของนักลงทุน
นอกจากอคติข้างต้นแล้วยังมีอคติในการรับข้อมูล ซึ่งส่งผลให้การวิเคราะห์หรือการตัดสินใจข้อมูลบิดเบือนไป ได้แก่ confirmation bias และ hindsight bias เราจะมากล่าวถึง confirmation bias ก่อน ซึ่งก็คือ การที่นักลงทุนพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่ตนเองคิด ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนได้ยินข่าวลือมาว่าบริษัทที่กำลังลงทุนอยู่มีแนวโน้มที่จะล้มละลาย หลังจากนั้นก็จะเลือกเสพแต่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้ยินมาและจะละเลยข้อมูลที่เกี่ยวกับปัจจัยบวกด้านอื่น เช่น บริษัทดังกล่าวมีออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ทำได้อย่างไม่รอบด้านนำมาสู่การตัดสินใจผิดพลาด ส่วน hindsight bias นั้นก็คือ การที่นักลงทุนคิดไปเองว่าสามารถทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น คิดไว้แล้วว่าหุ้นจะขึ้นแต่ก็ไม่ได้ซื้อ คิดไว้แล้วว่าหุ้นจะตกแต่ก็ไม่ได้ขาย ซึ่งการที่นักลงทุนคิดไปเองว่าประเมินทุกเรื่องถูกเสมอ จึงไม่มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุนได้
อคติการลงทุนข้อสุดท้ายที่จะกล่าวอ้างถึงก็คือ Conservatism bias คือ การที่นักลงทุนยึดติดกับข้อมูลก่อนหน้ามากกว่าข้อมูลปัจจุบัน ทั้งที่จริงทั้งคู่ต่างก็เป็นข้อเท็จจริงเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้น XYZ ผลิตเครื่องดื่มขาย เมื่อปีที่แล้วมียอดขายซบเซามาก แต่ปีนี้บริษัทมีออกผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี พฤติกรรมของนักลงทุนที่มี Conservatism bias ก็คือ ยังยึดติดข้อมูลที่เห็นเมื่อปีที่แล้วอยู่ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท XYZ ขายไม่ดี ทั้งๆ ที่มีข้อมูลใหม่เข้ามาให้นักลงทุนวิเคราะห์เพิ่มแล้วปัจจัยพื้นฐานของบริษัทก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การที่ยังมี Conservatism bias ท้ายที่สุดจะทำให้พลาดการตัดสินใจลงทุนในบริษัทดีๆ ไป
ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมด อคติในการลงทุนยังมีพฤติกรรมแบบอื่นๆ อีก สิ่งสำคัญที่สุดคือ นักลงทุนควรตัดสินใจบนข้อมูลและหลักวิเคราะห์ที่กลั่นกรองมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และขจัดอคติทางการลงทุนออกไปให้มากที่สุดเพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนทุกครั้ง นักลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อประโยชน์ของท่านเองนะครับ