บลจ.กรุงศรีชูศักยภาพการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็กที่มีศักยภาพเติบโตสูงและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าตลาดโดยรวมในขณะที่มีความผันผวนต่ำกว่า เปิดขายกองทุน KF-JPSCAP และกองทุน KF-JPSCAPD ครั้งแรกระหว่างวันที่ 24-31 พฤษภาคม 2560
น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า “บริษัทเล็งเห็นโอกาสการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กของญี่ปุ่นที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศยังเป็นอีกปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80-100% ของ GDP growth ในปี 2560-2561
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้านนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นปรับขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 83% และสัดส่วนสุทธิของนักลงทุนที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นคิดเป็น 22% อีกทั้งในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีความได้เปรียบจากความมั่นคงทางการเมืองสูง และเป็นที่คาดการณ์กันว่านายกฯ อาเบะจะยังคงรักษาทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP และตำแหน่งนายกฯ ได้จนถึงเดือนกันยายน 2564”
“ในปัจจุบันหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็กจำนวนมากมีศักยภาพการเติบโตสูง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและการเข้าถึงข้อมูลของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้ถูกนักลงทุนมองข้าม ทั้งที่หุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็กมีความน่าสนใจและสามารถสร้างผลตอบแทนได้เหนือกว่าตลาดโดยรวมในระยะยาว ในขณะที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาดโดยรวมในทุกช่วงเวลา”
“บลจ.กรุงศรีเล็งเห็นโอกาสและสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็ก จึงเสนอทางเลือกใหม่ให้ผู้ลงทุนด้วยกองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนสมอลแคปอิควิตี้ (KF-JPSCAP) และกองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนสมอลแคปอิควิตี้ปันผล (KF-JPSCAPD) โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ MUFG Japan Equity Small Cap Fund (กองทุนหลัก) บริหารจัดการโดย MUTB ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย MUFG กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย”
“กองทุนหลักมีความได้เปรียบในแง่ของทีมผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นจึงมีความใกล้ชิดและมีความเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี รวมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ยาวนานทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว ทีมผู้จัดการกองทุนมีการเข้าพบพูดคุยกับบริษัทต่างๆ มากกว่า 1,000 ครั้งต่อปี เพื่อค้นหาโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุดในตลาดหุ้นขนาดเล็กของญี่ปุ่น และใช้กลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างโดยการทำความเข้าใจถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมและลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัทให้ครอบคลุมทั้งวัฏจักร ส่งผลให้กองทุนหลักมีประวัติผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าดัชนีชี้วัด ทั้งนี้ กองทุนหลักสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2558 ได้สูงถึง 33.0% ซึ่งสูงกว่าดัชนีชี้วัดที่ 14.6%” (ที่มา : MIBL, Bloomberg ณ 31 มี.ค. 60 ดัชนี คือ Russell / Nomura Small Cap Total Index. ผลการดำเนินงานที่แสดงเป็นผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)
“กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในบริษัทที่มีลักษณะการเป็นผู้นำทางธุรกิจ มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่โดดเด่น สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน หรือเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการสูงขึ้นมากในอนาคต ตัวอย่างธีมการลงทุน เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการว่าจ้างและสรรหาบุคลากรซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรบุคคลจากการที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเกี่ยวกับการควบรวมกิจการเพื่อการสืบทอดธุรกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ เช่น การขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบความปลอดภัย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัทผู้ผลิตแผนที่สามมิติ บริษัทผลิตเซ็นเซอร์และกล้องติดรถยนต์ รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
“กองทุน KF-JPSCAP และกองทุน KF-JPSCAPD เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมจากการกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และมองหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนด้วยการลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งสองกองทุนมีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ MUFG Japan Equity Small Cap Fund (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ความเสี่ยงสูงระดับ 6 มีการป้องกันความเสี่ยงตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุน JPSCAPD จะมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ลงทุนด้วย” น.ส.ศิริพรกล่าว