ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ด้านกองทุนรวมเพื่ออนุญาตให้มีการเสนอขายเฮดจ์ฟันด์ต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ มุ่งเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยมีเกณฑ์กำกับดูแลการขายที่เคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ก.ล.ต.เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถออกและเสนอขายกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ซึ่งสามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท โดยไม่มีข้อจำกัดอัตราส่วนการลงทุน เนื่องจากกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์จะมีความเสี่ยงและความซับซ้อนสูงในขณะที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนประเภทรายใหญ่พิเศษเท่านั้นที่สามารถลงทุนได้ และเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม ก.ล.ต. จึงปรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการขายกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ให้เคร่งครัดขึ้น โดยบริษัทจัดการต้องอธิบายให้ผู้ลงทุนทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมประเภทนี้อย่างละเอียด ให้ข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดต่อการลงทุน (worst case scenario) นอกจากนี้ บริษัทจัดการจะต้องระบุข้อความ “เฮดจ์ฟันด์” หรือ “Hedge Fund” ไว้ในชื่อกองทุน และเขียนต่อท้ายชื่อกองทุนว่า “ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย” ด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนสำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund : PF) โดยกำหนดให้ PF สามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัดด้านอัตราส่วนการลงทุน และให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ตกลงกับลูกค้า โดยบริษัทจัดการจะต้องจัดสรร
เงินลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้า และบริหารจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า ข้อกำหนดการตั้งชื่อกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ในเอกสารเผยแพร่ต่างๆ มีผลเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป สำหรับหลักเกณฑ์อื่นข้างต้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต.ได้เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถเสนอขายเฮดจ์ฟันด์เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนกลุ่มสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษซึ่งมีศักยภาพในการรับความเสี่ยงสูง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระดับที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยยังคงมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมเทียบเคียงได้กับสากล และห้ามไม่ให้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายย่อย”
หมายเหตุ :
1. ผู้ลงทุนสถาบัน (II) เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น PF จะต้องเป็น PF ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์รับจัดการเงินทุนของ II หรือ UHNW ตามข้อ 2 เท่านั้น
2. ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) หมายถึง บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
กรณีบุคคลธรรมดา (รวมคู่สมรส) ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) สินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป
(ข) รายได้ต่อปีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (กรณีไม่นับรวมคู่สมรส มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 7 ล้านบาทขึ้นไป)
(ค) มีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป (กรณีนับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป)
กรณีนิติบุคคล ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป
(ข) มีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป (กรณีนับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 80 ล้านบาทขึ้นไป)