ผ่านมาแล้ว 4 เดือนสำหรับปี 2017ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวได้ดีตามคาด ถึงแม้ความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายยังคงมีอยู่สูง โดยในปีนี้ บลจ.ทิสโก้คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่อัตรา 3.5% เทียบกับ 3.1% ในปี 2016 โดยจะได้แรงหนุนจากการเร่งตัวของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ผลักดันให้ GDP Growth ของกลุ่ม Developed Markets เร่งตัวขึ้นจาก +1.6% ในปี 2016 มาที่ +1.9% ในปีนี้ ขณะที่ GDP Growth ของกลุ่ม Emerging Markets ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจาก +4.1% ในปี 2016 มาที่ +4.7%
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึงแม้ GDP Growth ในไตรมาสที่ 1 จะออกมาไม่ค่อยดีนักจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีภาคการผลิต การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ที่ถึงแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเราคาดว่าการฟื้นตัวของ GDP Growth จะเริ่ม Gain Momentum ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีหากแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald Trump สามารถเริ่มดำเนินงานได้ ซึ่งจะทำให้ GDP Growth ปรับตัวดีขึ้นจาก +1.6% ในปี 2016 มาที่ +2.6% ในปี 2017 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นาย Trump ไม่สามารถนำร่างกฎหมายประกันสุขภาพ American Healthcare Act ที่จะมาแทน Obamacare ผ่านสภาไปได้ ทำให้ความเสี่ยงที่ว่านโยบายต่างๆ ที่เขาได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลด Corporate Tax หรือการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มจะมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของนาย Trump เข้ามาช่วยการบริโภค และภาคการจ้างงานที่แข็งแรง อัตราการว่างงานที่ปรับลดลงและค่าจ้างแรงงานที่ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาพของการฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงเป้าหมายเดิมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าการปรับขึ้นครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ย. โดยในกรณีที่แผนงานของนาย Trump ไม่มีการสะดุด เราคาดว่า Fed จะเริ่มสื่อสารถึงแนวทางการปรับลด Balance Sheet (ซึ่งคาดว่าจะเป็นการไม่ Reinvest เพิ่มในส่วนของตราสารที่ครบกำหนดอายุ) ในเดือน ธ.ค.
สำหรับเศรษฐกิจยุโรป ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง ยอดค้าปลีกที่เร่งตัวขึ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการบริโภคของประชาชนที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปีไม่ส่งแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในส่วนของภาคการส่งออก การส่งออกของเยอรมนีซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของยูโรโซน ยังคงขยายตัวในอัตราเร่งที่สูง +6.0% YoY ในเดือน ก.พ. นับว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2015 ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าการอ่อนค่าของเงินยูโรและการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของยูโรโซนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 นี้ความเสี่ยงทางด้านการเมืองจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งนักลงทุนจะกังวลว่าหากนาง Marine Le Pen ชนะการเลือกตั้ง จะนำประเทศไปสู่การเดินตามรอยประเทศอังกฤษ คือการออกจากกลุ่มยูโรโซน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งรอบที่ 1 นาย Emmanuel Macron สามารถได้รับชัยชนะเหนือนาง Le Pen และจาก Poll ล่าสุดมีแนวโน้มว่านาย Macron น่าจะชนะการเลือกตั้งในรอบ 2 ซึ่งจะทราบผลในวันที่ 2 พ.ค. ซึ่งหากเป็นดังที่ Poll ออกมาความเสี่ยงของความแตกแยกในกลุ่มประเทศยูโรโซนก็จะคลี่คลายลง ทำให้เศรษฐกิจของยูโรโซนจะยังคงก้าวเดินต่อไปได้ตามที่คาดการณ์ไว้
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ถึงแม้ในช่วงต้นปีหลังจากนาย Trump ได้รับการเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีความกังวลว่าจีนอาจจะโดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ แต่ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง โดย GDP Growth ในไตรมาสที่ 1 ประกาศออกมาที่ +6.9% YoY เกิดจากแรงหนุนจากภาคการผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production ที่ได้เร่งตัวขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure FAI) รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจจีน ยังคงต้องจับตามองที่นโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหากมีการกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบหนักต่อภาคการส่งออกของจีน และถึงแม้ GDP Growth ในไตรมาสแรกจะออกมาดี เราคาดว่า GDP Growth ในไตรมาสต่อๆ ไปจะเติบโตในอัตราเร่งที่ชะลอลง เนื่องจากธนาคารกลางจีน (PBoC) จะทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในตลาดเงิน และเพื่อควบคุมสินเชื่อนอกภาคธนาคาร (Shadow Banking)
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในช่วง 4 เดือนแรกยังคงให้ภาพของการขยายตัวที่ค่อนข้างอ่อนแรง ถึงแม้ภาคการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่การบริโภคในประเทศ และการผลิตกลับชะลอตัวลง ซึ่งถ้าเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป หรือจีน ที่ทิศทางเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มที่ดี ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะดูด้อยกว่า แต่ข้อดีที่เป็นข้อแตกต่างจากประเทศดังกล่าว คือนโยบายทางการเงินที่ยังคงอยู่ในช่วงผ่อนคลาย ในขณะที่นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ยุโรป หรือกระทั่งจีน เริ่มมีแนวโน้มที่จะตึงตัวมากขึ้น เหตุเพราะอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ +0.2% YoY ในเดือน ก.พ. ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อยู่มาก ทำให้โอกาสที่ BOJ จะเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการเงินจะเป็นไปได้น้อยมาก