xs
xsm
sm
md
lg

2017 ปีทองแห่งท่องเที่ยว “อาเซียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ท่องเที่ยว” เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน มีขนาดอุตสาหกรรมราว 12% ของเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และในวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ประเทศสมาชิกจึงร่วมกันเปิดตัว Visit Asean@50 เพื่อมุ่งหวังสร้าง “ปีทอง” ของการท่องเที่ยวให้ดินแดนแห่งนี้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เนื่องด้วยความโดดเด่นเชิงภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้ประเทศใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย ความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับธุรกิจบริการทางด้านต่างๆ ที่มีคุณภาพ และมีราคาเหมาะสม

ในปี 2558 นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางสู่ภูมิภาคแห่งนี้ 109 ล้านคน โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลังตกปีละ 7% และยังคงแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการท่องเที่ยวยังส่งผลบวกด้านอื่นๆ ในเชิงเศรษฐกิจอีก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน หรือการลงทุนโดยรวมของประเทศ

เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศสมาชิกจึงร่วมกันเปิดตัวโครงการ Visit Asean@50 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวให้ได้ 121 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และดึงให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในย่านนี้นานขึ้นเป็น 6-7 วัน เพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 ประเทศต่อหนึ่งทริป และมุ่งเป้าทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนอาเซียนด้วยกันเอง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเดินทางท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน หรือทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ที่ผ่านมาแบรนด์ “อาเซียน” โดยรวมกลับไม่ประสบความสำเร็จนัก และยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในนามประเทศ ปัญหาหลักเกิดจากงบประมาณทางการตลาดซึ่งค่อนข้างจำกัด สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร รวมถึงความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิก

ประเทศหลักยอดนิยมของนักเดินทางยังคงเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ทว่า ประเทศอื่นๆ เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม หรือลาว ล้วนเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และเพียบพร้อมด้วยศักยภาพที่จะเติบโตในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ประเทศในอาเซียนต้องพัฒนา ผลสำรวจจากนักท่องเที่ยวหลายสำนัก และข้อแนะนำของสภาเดินทางและท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council - WTTC) ระบุถึงด้านต่างๆ ที่อาเซียนต้องเน้น หากต้องการเป็นแหล่งเที่ยวในฝัน (Dream Destination) ของนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การลงทุนพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น สนามบิน ถนน ท่าเรือ ระบบขนส่ง) ความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทั้งจากอาชญากรรมและการก่อการร้าย การดูแลรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง รวมทั้งการใช้ Single Visa สำหรับนักท่องเที่ยวนอกภูมิภาค คล้ายกับในยุโรปที่มี Schengen Visa

แต่หากพิจารณาปัจจัยรอบด้านแล้ว ความพยายามโปรโมตการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคในครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก เพราะนอกจากจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์และคุณภาพของการบริการแล้ว เราเริ่มเห็นความพยายามจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ ทางเชื่อมระหว่างประเทศ การผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมถึงการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ดังนั้น เชื่อได้ว่าต่อไปนี้เราจะเห็นพัฒนาการใหม่ๆ ร่วมกันของกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะขยายตัวในอัตราเร่งเพื่อเชื่อมโยงประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน ให้รองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต รวมทั้งลงทุนด้านระบบสารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ระบบการจองตั๋วหรือที่พักอันทันสมัย ไปจนกระทั่ง Marketing Campaign ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดและเสริมประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะนำไปสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น