ผู้จัดการรายวัน 360 - กองทุนประกันวินาศภัยเตรียมเดินหน้าจ่ายเงินล็อตแรก 8 บริษัทล้มตั้งแต่ปี 52 ล่าสุดประเดิมจ่ายสัมพันธ์ประกันกว่า 299 ล้านบาท 8,419 คำขอ วอนเจ้าหนี้บริษัทย้ายที่อยู่รีบแจ้งกลับกองทุนฯ เพื่อเร่งชำระหนี้ อีก 7 อยู่ในกระบวนการยันไม่ล่าช้า พร้อมจับมือกองทุนประกันชีวิต ครบรอบ 9 ปี ประกาศแผน 3 ปี รับลูก กท.คลังพัฒนาเสถียรภาพธุรกิจเชิงรุก สู่เสาหลักที่ 3 ในระบบสถาบันการเงินและพัฒนาเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
นางกมลวรรณ กีรติสมิต ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ที่ประกาศปิดตัวตั้งแต่ปี 2552 จำนวน 8 บริษัท ประกอบด้วย 1. บจก.สัมพันธ์ประกันภัย 2. บจก. เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนลอินชัวร์รันส์ 3. บจก.วิคเตอรี่ประกันภัย (ประเทศไทย) 4. บจก.ลิเบอร์ตี้ประกันภัย 5. บจก.ส่งเสริมประกันภัย 6. บมจ.ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย 7. บมจ.ศูนย์สุขภาพประเทศไทย และ 8. บมจ.สัญญาประกันภัย ส่งผลให้มีประชาชนเข้ายื่นคำร้องต่อกองทุนประกันวินาศภัย และกรมบังคับคดี ประมาณ 25,000 คำขอ รวมเป็นเงินที่ต้องชำระจำนวน 2,500 ล้านบาท
โดยล่าสุดมีคำขอที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยแล้วจำนวน 8,419 คำขอ รวมเป็นเงินที่ต้องชำระจำนวน 299.54 ล้านบาท เป็นในส่วนของเจ้าหนี้ บมจ.สัมพันธ์ประกันภัยทั้งหมด และกองทุนฯ ได้ดำเนินการส่งจดหมายแจ้งจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับพร้อมเอกสารแนบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานรวบรวมและตรวจสอบเอกสารตอบกลับจากเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการชำระเงินให้เจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนฯ ขอให้เจ้าหนี้ บจก.สัมพันธ์ประกันภัยรีบติดต่อกลับมาที่กองทุนฯ โดยเร็วที่สุดหากย้ายที่อยู่ เพราะที่ผ่านมาพบปัญหา คือ มีจดหมายของเจ้าหนี้ตีกลับมาที่กองทุนจำนวนค่อนข้างมาก ส่วนเจ้าหนี้ที่ได้รับจดหมายแล้วก็ขอให้ตรวจสอบเอกสารและยืนยันรับสิทธิโดยเร็วที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอีกเจ้าหนี้บริษัทประมาณ 2-3 รายพบว่าเป็นบุคคลล้มละลายจะไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้ด้วย
ทางด้าน บมจ.สัญญาประกันภัยยังอยู่ในกระบวนการของการฟ้องละลาย ซึ่งกองทุนฯ เป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้ชำระบัญชี โดยภายในเดือน เม.ย.นี้เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ขอเฉลี่ยทรัพย์และยอดเงินที่กองทุนต้องจ่าย จากนั้นจะดำเนินการส่งจดหมายแจ้งเจ้าบริษัทตามกระบวนการต่อไป มูลหนี้ทั้งสิ้น 108 ล้านบาท เชื่อว่ากระบวนการจะเร็วกว่า บจก.สัมพันธ์ประกันภัย เนื่องจากหากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เห็นชอบแล้วมีส่วนที่กองทุนสามารถชำระหนี้ได้ทันที
สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิต ครบรอบ 9 ปีในปีนี้ เปิดแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันวินาศภัย ระยะ 3 ปี (ปี 60-62) ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 บริหารการจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทางด้านการเงินของเจ้าหนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการที่ 2 เสริมสร้างความรู้กองทุนประกันวินาศภัยของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มาตรการที่ 3 การบริหารจัดการภายในกองทุนประกันวินาศภัย และมาตรการที่ 4 ด้านนวัตกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนประกันวินาศภัย
ทางด้าน นายสมชาย ดำรงสุนทรชัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 60-62) มีมาตรการหลักประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เสริมสร้างความเชื่อมั่นการประกันชีวิตของผู้เอาประกันภัยว่าจะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทภารกิจการคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันชีวิตให้แก่ประชาชน มาตรการที่ 2 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการประกันภัย และส่งเสริมให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา สนใจศึกษาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย มาตรการที่ 3 การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ระบบสารสนเทศของกองทุนมีความทันสมัย พร้อมรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันชีวิต อำนวยความสะดวกให้ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้และสิทธิประโยชน์จากการทำประกันชีวิตและบทบาทหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิตได้มากยิ่งขึ้น มาตรการที่ 4 การพัฒนากองทุนให้เป็นมาตรฐานสากล โดยสานความสัมพันธ์กับกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันชีวิตในต่างประเทศ โดยการรวบรวมข้อมูลด้านความคุ้มครองผู้เอาประกันชีวิต และการศึกษารูปแบบแนวความคิด และวิธีการให้ความคุ้มครองของกองทุนประกันชีวิตในต่างประเทศ ในฐานะที่ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารของที่ประชุมนานาชาติเพื่อการคุ้มครองผู้เอาประกันภัย International Forum of Insurance Guarantee Schemes (IFIGS) ซึ่งมีสมาชิกจาก 24 ประเทศทั่วโลก