คปภ.เอาจริงคลอดมาตรการลดอุบัติเหตุเพิ่ม จัดหนักพวก “เมาแล้วขับ” ปรับเกณฑ์วัดแอลกอฮอล์ตามกฎหมายจราจรต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยระบุไว้ที่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ระบุชั่งน้ำหนักผลดี ผลเสียรอบคอบแล้ว และจะเกิดผลดีต่อประชาชนมากกว่า
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 8/2560 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2560 ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจร้อยละ 5-10 สำหรับรถยนต์ที่ติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชนและช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนนั้น
ขณะนี้สำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว โดยเร่งทำความเข้าใจกับบริษัทประกันภัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม การจะลดอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย ซึ่งมีสถิติผู้สูญเสียชีวิตสูง เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการในการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากการสำรวจพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือ การเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ.ทำงานร่วมมือกับหลายฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเมาไม่ขับ และคณะกรรมการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ รณรงค์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าลำพังมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้โดยการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลวันหยุดเพียงอย่างเดียวนั้นมิอาจลดอุบัติเหตุบนถนนได้อย่างได้ผล จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และหนึ่งในกลไกสำคัญคือการใช้มาตรการทางด้านประกันภัยอย่างเต็มศักยภาพเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน
โดยหลังจากที่ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนเรื่องให้ใช้อัตราเบี้ยประกันรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ เป็นมาตรการแรกด้านประกันภัยเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนถนนแล้ว ขณะนี้สำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างเตรียมคลอดมาตรการที่สองตามมา โดยจะมีการออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนด
ทั้งนี้ ประเด็นการปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำกว่าเดิมนั้น มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาตั้งแต่ก่อนที่ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. โดยหลายฝ่ายเห็นว่าข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้นไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2537 ซึ่งบัญญัติว่าถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตรวจวัดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา ส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่ดื่มสุรา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเมาสุรา เมื่อไปขับขี่รถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุบริษัทประกันภัยก็ยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลกระทบให้เสมือนเป็นการจูงใจให้คนที่ดื่มสุรานิ่งนอนใจว่าถึงแม้เมาแล้วขับรถยนต์ชนเกิดความสูญเสียก็ยังมีประกันภัยจ่ายแทน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขกติกาในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม จนมาถึงยุคของเลขาธิการ คปภ.คนปัจจุบัน
“จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ประกอบการชั่งน้ำหนักผลดี ผลเสีย อย่างรอบคอบแล้ว สำนักงาน คปภ.เห็นว่า การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรมประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนดจะเกิดผลดีต่อประชาชนมากกว่า โดยจะเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการรณรงค์ “เมาไม่ขับ” และช่วยสนับสนุนความปลอดภัยทางถนนตามแผนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน อันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะมีการออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2560 โดยจะมีการกำหนดช่วงเวลาพอสมควรก่อนที่จะให้มีคำสั่งใช้บังคับเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการปรับตัวรองรับกติกาใหม่นี้ต่อไป” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวทิ้งท้าย