ผู้จัดการรายวัน 360 - บลจ.ไทยพาณิชย์เผย ปี 59 ที่ผ่านมาบริษัทได้ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 โดยมีสินทรัพย์สุทธิ (AUM) 1.3 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 33% สำหรับปี 60 บริษัทเน้นมองที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ส่วนทิศทางเศรษฐกิจมองว่าประเทศไทยจะเติบโตต่อเนื่องจากด้านท่องเที่ยว ส่งออก แต่ให้ระวังความผันผวนทางนโยบายของอเมริกา Fed ขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งการเมืองทางยุโรป
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงปี 2559 บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) รวม 1,307,408 ล้านบาท ยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.52% เติบโตจากปี 2558 คิดเป็นอัตรา 12% ที่มี AUM รวม 1,163,079 ล้านบาท กองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ สิ้นปี 2559 สูงถึง 325,122 ล้านบาท เติบโต 33% จากสิ้นปี 2558 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.60% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557
สำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 120,111 ล้านบาท เติบโต 2% จากปี 2558 และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 862,174 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 84,325 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 56,407 ล้านบาท
นายสมิทธ์กล่าววต่อว่า ในปีที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันผลการดำเนินงานกองทุนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จ มีกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในหลายสินทรัพย์ โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2559 เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap หรือ SCBMSE ที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีผลตอบแทนในปี 2559 อยู่ที่ 33.74% เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมกองทุนประเภท Equity Small-Mid Cap ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ หรือ SCBSE ที่เน้นการคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีความสามารถที่จะเติบโตได้ดีกว่าตลาด และมีผลการดำเนินงานในปี 2559 อยู่ที่ 23.88% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 19.79% รวมทั้งยังได้นำเสนอกองทุนกลุ่ม Income ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด คือ กองทุน SCBPLUS และกองทุน SCBGPLUS ที่เน้นผสมสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก สามารถสร้างรายได้ระหว่างทางซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยสิ้นปี 2559 มีเงินไหลเข้ากองทุนประเภทนี้กว่า 46,800 ล้านบาท
สำหรับแผนงานในปีนี้ นอกจากจะมุ่งขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Age ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ยังต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ Active มากขึ้นด้วย เพราะพอร์ตการลงทุนที่ไม่เคลื่อนไหวอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาด รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ออกกองทุนกลุ่ม Income ไปแล้ว คือ กองทุน SCBGIN และกองทุน SCBMPLUS
นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร ทั้งความชำนาญของผู้จัดการกองทุนที่ต้องมีการจัดการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมทั้งคุณภาพพนักงานขาย โดยเน้นการสร้างความรู้ให้ทีมขายของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ได้พัฒนาศักยภาพของทีมขายด้วยการเดินสายให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ วิธีการเสนอขายอย่างถูกต้อง รวมทั้งเทคนิคการปรับพอร์ต ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมขายมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแลพอร์ตของลูกค้า และสามารถให้คำแนะนำในการกระจายความเสี่ยง
สำหรับพอร์ตการลงทุนให้น้ำหนักอยู่ที่ตราสารหนี้ 50% และหุ้นอีก 50% โดยเน้นไปที่หุ้น Mid-Small Cap ในแต่ละประเทศเพราะเชื่อว่าหุ้นขนาดเล็กมีศักยภาพสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เพราะบริษัทเล็กจำเป็นต้องเติบโต แต่ควรกระจายการลงทุนมากกว่าไปที่ลงทุนตัวเดียว
ด้านทิศทางเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากการท่องเที่ยวและการส่งออกอยู่ในทิศทางที่ดีและปัจจัยหลายด้าน แต่ให้ระวังเรื่องของความผันผวนจากนโยบายของนายโดนัลล์ ทรัมป์ ที่ไม่แน่นอน และผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed รวมทั้งการเลือกตั้งและผลการเมืองจากฝั่งยุโรปที่มีความไม่แน่นอนทั้งสิ้น