xs
xsm
sm
md
lg

แอสเซทพลัสโชว์ผลปี 59 โต 15% ดันกลยุทธ์ตอบกองหุ้น-ลุยตราสาร ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บลจ.แอสเซท พลัส ปลื้ม AUM ปี 59 เติบโตกว่า 15% เหนือ 43,500ล้านบาท เตรียมลุยนำเสนอกองทุนใหม่มุ่งตอบโจทย์ผู้ลงทุนต่อเนื่อง พร้อมงัดกลยุทธ์ดันโอกาสรับผลตอบแทนกองทุนหุ้นสู่แนวหน้าแม้ตลาดผันผวน ล่าสุดส่ง “กองทุนเปิด ASP-DPLUS” ประเดิมตลาดปี 60 ชวนผู้ลงทุน AI ลุยตราสารหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศ ชูจุดเด่นโอกาสรับผลตอบแทนสูงท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยต่ำและกระแสเงินไหลออกจากเงินฝาก สภาพคล่องสูง ซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ Hedge ทั้งจำนวน เสนอขายครั้งแรก 16 ม.ค.-1 ก.พ.นี้

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด (บลจ.แอสเซท พลัส) เปิดเผยว่า ในปี 2560 บลจ.แอสเซท พลัส ยังคงมุ่งนำเสนอทางเลือกในการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน สอดรับกับระดับความเสี่ยงที่รับได้และสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยด้านธุรกิจกองทุนรวมจะมุ่งเน้นไปที่การจัดตั้งกองทุนใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีสภาพคล่องสูงและให้โอกาสรับผลตอบแทนที่ดีเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ยังคงต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่ดึงดูดใจท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ผนวกกับการบริหารจัดการกองทุนที่มีอยู่แล้วโดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นทั้งใน และต่างประเทศให้มีโอกาสรับผลตอบแทนอยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเตรียมรุกขยายช่องทางการขายเพิ่มเติมผ่านทางธนาคารพาณิชย์ และขยายพันธมิตรผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นทั้งนี้ วางเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ปี 2560 ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 25% จาก AUM ณ สิ้นปี 2559

“ความสำเร็จของ บลจ.แอสเซท พลัส ในปีที่ผ่านมาเกิดจากผู้ลงทุนมอบความไว้วางใจให้บริหารกองทุน โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุน AI ซึ่งสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เฉพาะธุรกิจกองทุนรวมของบริษัทในปี 2559 เติบโตได้ถึง 18% เหนือกว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมซึ่งเติบโตที่ 14% สำหรับแผนธุรกิจในปี 2560 บลจ.แอสเซท พลัสตั้งเป้าหมายในการเติบโตไว้ที่ 25% โดยมี AUM เพิ่มขึ้นแตะ 55,000 ล้านบาท และจะยังคงมุ่งนำเสนอทางเลือกในการลงทุนใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการบริหารกองทุนที่มีอยู่เดิมซึ่งกระจายไปในหลากหลายสินทรัพย์ลงทุน และครบถ้วนทั้งเชิงรุก (Active) และเชิงรับ (Passive) อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมหุ้นทั้งในและต่างประเทศที่มีเป้าหมายในการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการให้โอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าบนฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่ คือ บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านช่องทางการขายต่างๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการลงทุนออนไลน์ ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการลงทุนของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายในปี 2560 ได้ในที่สุด” นายรัชต์กล่าว

สำหรับมุมมองด้านการลงทุน นายรัชต์กล่าวว่า ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในปีนี้ยังเผชิญความผันผวนและมีปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยบริษัทมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดญี่ปุ่นซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและยังจะได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่นายกรัฐมนตรีอาเบะอาจได้รับการยอมรับให้ดำรงตำแหน่งต่อไปทำให้นโยบายเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดว่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้โดยมีแรงหนุนจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับตลาดจีนเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดของทางการจีนจะช่วยคลายความกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่และไม่เกิด Hard Landing อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลต่อจีนมากน้อยเพียงใด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปแม้เศรษฐกิจจะยังได้อานิสงส์จากมาตรการ QE แต่ยังต้องจับตาผลกระทบจากการเลือกตั้งในหลายประเทศที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ สำหรับตลาดหุ้นไทย คาดการณ์ SET Index ปลายปีที่ 1,680 จุด โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะเดียวกันทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไปเพื่อเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่มีแบรนด์แข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ แนะนำผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเลือกกระจายสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นไทย 40% หุ้นต่างประเทศ 10% ตราสารหนี้ 40% และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น น้ำมัน ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 10%”

“ในด้านของทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้น แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไป ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อมีแนวโน้มลดลง ทำให้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะทรงตัวต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายย่อยที่คาดหวังโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าเงินฝากและกองทุนตลาดเงินทั่วไป แต่ยังคงต้องการสภาพคล่องสูง บลจ.แอสเซท พลัส จะเสนอขาย กองทุนเปิด ASP-DPLUS ซึ่งเน้นลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในต่างประเทศและในประเทศ อายุเฉลี่ยของตราสารประมาณ 3-6 เดือน สภาพคล่องสูง ซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ กรณีขายคืนจะได้รับเงินในวันทำการถัดไป (T+1) พร้อมนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน โดยจะเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ 16 มกราคม-1 กุมภาพันธ์นี้ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จีน และตุรกี ร่วมด้วยบริษัทเอกชนในไทย ซึ่งบริษัทเชื่อว่า ด้วยความเชี่ยวชาญในการเฟ้นหาตราสารของบริษัท ผนวกกับขนาดของกองทุนดังกล่าวที่ไม่ใหญ่เกินไปนักจะเอื้อต่อการสร้างโอกาสเข้าถึงตราสารหนี้ได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจยิ่งขึ้นให้แก่ผู้ลงทุนได้” นายรัชต์กล่าว

สำหรับกองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ เดลี่ พลัส เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (ASP-DPLUS) เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้สำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และ/หรือเงินฝาก โดยสามารถลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ระดับความเสี่ยงในการลงทุน 4.5 มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน สภาพคล่องสูงสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝากของธนาคารกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ธนาคาร Emirates NDB, First Gulf Bank, ADCB, Commercial Bank และ QND ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A+, A+, A+, A+ และ B- ตามลำดับ พร้อมด้วยธนาคารพาณิชย์ในประเทศจีน เช่น Bank of China, Industrial and Commercial Bank of China, China Construction Bank และ Agricultural Bank of China ซึ่งล้วนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A นอกจากนี้คาดว่าจะลงทุนในเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศตุรกี เช่น YapiKredi และ Ziraat Bankasi ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ BBB ร่วมด้วย Turkiye Bankasi, Garanti Bank และ AKBANK ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB- ส่วนที่เหลือคาดว่าจะลงทุนในตราสารหนี้เอกชนในประเทศและพันธบัตรรัฐบาลไทย

“สำหรับการลงทุนในเงินฝากธนาคารพาณิชย์ตุรกี ซึ่งผู้ลงทุนอาจมีความกังวลถึงผลกระทบจากปัญหาก่อการร้ายและปัญหาการเมืองนั้น บลจ.แอสเซท พลัส มีกระบวนพิจารณาคัดเลือกและวิเคราะห์ความเสี่ยงของตราสารและประเทศที่ลงทุนอย่างรอบคอบ และมองว่าหากพิจารณาในแง่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ตุรกีมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลก การเติบโตของ GDP และรายได้ต่อหัวของประชากรสูงกว่าไทยราว 2 เท่า ระดับของหนี้สาธารณะ หนี้ภาคครัวเรือน และระดับหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ก็ยังอยู่ในระดับต่ำมาก อีกทั้งธนาคารที่เลือกลงทุนยังคงมีผลประกอบการที่ดีและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจให้แก่ผู้ลงทุนกลุ่ม AI ต่อไปได้” นายรัชต์กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น