xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยโชคดีที่เรามี “พ่อหลวง” ของแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมานี้ เราพี่น้องชาวไทยทั้งแผ่นดินขอร่วมใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวง” ของแผ่นดิน เกินกว่าที่จะพรรณนาได้ครบถ้วน ผมขอรวบรวมพระมหากรุณาธิคุณหลายๆ เรื่องดังต่อไปนี้

1. ทรงเริ่มต้นด้วยพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”เมื่อสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในวันนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

เป็นหลักการที่เป็นทางสว่างของแผ่นดิน พระองค์ผู้ทรงมีอำนาจในการครองแผ่นดิน พระองค์ทรงตั้งต้นที่ การครองแผ่นดิน “โดยธรรม” และ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับผู้นำไทย และชาติต่างๆ อย่างแท้จริง

2. ทรงงานหนัก ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อปวงชนชาวไทย เราได้เห็นภาพในอดีต ที่ถนนหนทางยังไม่ดี เส้นทางต่างๆ เพื่อไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในหลายๆ พื้นที่ยังเป็นเส้นทางที่ลำบากมาก ต้องมีการลุยน้ำ ลุยโคลน ลุยป่า แต่พระองค์ได้เสด็จฯ ไปในที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ต้องช่วยพี่น้องไทยชาวเขาที่อาจเคยหลงผิดปลูกยาเสพติดให้มีงานทำ และสามารถทำการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อเลี้ยงชีพ พระองค์เสด็จฯ ทรงเยี่ยมประชาชน มุ่งช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่ยากจนทั่วแผ่นดินให้มีอาชีพที่สุจริต เมื่อชาวไทยได้เห็นถึงการทรงงานที่หนัก หยาดเหงื่อที่ไหลคล้อย เราก็ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แน่นในหัวใจคนไทยทุกคน

3. ทรงสอนหลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” ควบคู่คำสอน “พระมหาชนก”ทรงเป็นต้นแบบแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ ช่วยทำให้ประเทศชาติ ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างเข้มแข็ง และไม่ติดกับดักของวิกฤตการเงินโลกปี 2007-2008 อย่างเข้มแข็ง

และเรื่องพระมหาชนก ก็ได้สอนเรื่องความมานะอดทน เข้มแข็ง เผชิญความลำบาก ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยมีความเข้มแข็ง มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน

4. ทรงสอนให้พี่น้องไทย “รู้รักสามัคคี” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2535 เรื่อง “ความรู้รักสามัคคี” นั้นก็เป็นคำสอนที่เป็นอมตะ มีเนื้อหาอันทรงคุณค่าที่คนไทยควรที่จะระลึกไว้เสมอ เพื่อรักษาบ้านเมืองของเราให้ยั่งยืนสถาพรไปอีกนานแสนนาน

“การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมา ... ก็เห็นแล้วว่าการเผชิญหน้านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น เพราะว่าทำให้มีความเสียหายในทางชีวิต เลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็ความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการ และส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย นอกจากนี้ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ อย่างที่จะนับพรรณนาไม่ได้ ฉะนั้น การที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไปจะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก”

“เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชน... ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

นับเป็นคำสอนที่เตือนสติคนไทยให้ “รู้รักสามัคคี” เพื่อสังคมที่สงบสุขร่มเย็นและเจริญยั่งยืนอย่างแท้จริง ความทุ่มเท และคำสอนของพระองค์ เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดินจริงๆ ครับ


มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)
กำลังโหลดความคิดเห็น