โดยบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ดีๆ ที่ช่วยแนะนำการวางแผนทางการเงินด้วยแนวคิด “วางแผนการเงิน.. แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน” ท่านผู้อ่านครับเผลอแป๊บเดียวก็จะสิ้นปีอีกแล้ว เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ และในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ หลายท่านคงกำลังตั้งหน้าตั้งตาเตรียมการพักผ่อนและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่กันแล้ว
ดังนั้นผมก็ขอถือโอกาสนี้อวยพรปีใหม่ 2559 ให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน “จงมีแต่ความสุข เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยเงินทอง มั่งคั่ง มั่นคง ธุรกิจก้าวหน้า ตลอดปี 2559 และตลอดไปครับ”
และในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 นี้มีสิ่งหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้เลย นั่นคือเรื่องการวางแผนลดหย่อนภาษี โดยในวันนี้ผมจะมาแนะนำหลักเกณฑ์ที่จะช่วยให้ท่านลดภาระทางภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายครับ แต่ผมจะขอเน้นเฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นมาตรการเพิ่มเติมสำหรับปี 2558 นี้นะครับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในทางปฏิบัติอย่างถูกต้องในการลดหย่อนภาษีครับ
ก่อนอื่นผมขออธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมก่อนนะครับ โดยเริ่มจากเมื่อท่านมีเงินได้แล้ว สิ่งแรกในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ การหักค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งกรณีที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น ตามกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 40% ของเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 60,000 บาท หลังจากนั้นค่อยมาหักค่าลดหย่อน ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี โดยในกรณีทั่วๆ ไปเท่าที่เราทราบกันก็จะมี ลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท ลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 30,000 บาท ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร ไม่เกิน 3 คน คนละ 15,000 บาท ลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท ฯลฯ
ในส่วนนี้ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านได้ทราบและใช้สิทธิส่วนนี้ในแต่ละปีอยู่แล้ว แต่สำหรับการลดหย่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นมาตรการเพิ่มเติมในปี 2558 มีดังนี้ครับ
1. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันแบบบำนาญ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยเปลี่ยนการคำนวณจากเดิม คือ “เงินได้พึงประเมิน” มาเป็น “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิมครับ
LTF สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้นแต่ไม่เกิน 500,000 บาท
RMF สามารถซื้อเพื่อหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี
ประกันชีวิตแบบบำนาญ นั้นสามารถซื้อเพื่อลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
และที่สำคัญที่สุดคือ RMF เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และประกันชีวิตแบบบำนาญรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ตามสูตรด้านล่างนี้ครับ
2. มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ
มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เป็นมาตรการที่ให้สำหรับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยลดหย่อน 20% ของมูลค่าบ้านที่ซื้อระยะเวลา 5 ปี เช่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ลดหย่อน 20% คำนวณออกมาแล้วเท่ากับ 6 แสนบาท ให้นำ 5 ปีมาหารเฉลี่ยจะได้ปีละ 1.2 แสนบาท เท่ากับอัตราที่จะนำไปหักลดหย่อนได้คือปีละ 120,000 บาท เป็นต้น
มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว กำหนดให้เงินที่จ่ายเป็น ค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558
มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย กำหนดให้เงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือครับ สำหรับมาตรการนี้ต้องรอกฎหมายอย่างเป็นทางการจากกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังก่อนนะครับ ซึ่งคาดว่าจะออกในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ครับ
สำหรับวันนี้ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีมากพอสมควร รวมถึงมาตรการใหม่ๆ ที่ทางภาครัฐต้องการกระตุ้นหรือส่งเสริมครับ และก่อนจากกันในวันนี้ผมขอฝากว่าในปี 2559 ขอให้ท่านเริ่มวางแผนตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่จะสามารถใช้มาตรการต่างๆ ในการลดภาระทางภาษีของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ สวัสดีครับ