ก.ล.ต.เปิดช่องกองทุนรวม เพิ่มความยืดหยุ่นลงทุนกลุ่มเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง ลาว กัมพูชา พม่า มั่นใจศักยภาพเติบโตสูง และมีการพัฒนาโครงการใหญ่ต่อเนื่อง ด้าน บลจ.เผยสนใจลงทุนตราสารหนี้แต่ต้องดูผลตอบแทนก่อน แต่เมินหุ้นเหตุขนาดยังไม่น่าสนใจ
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติให้แก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย ให้สามารถลงทุนในทรัพย์สินกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว และพม่าได้ ในอัตราส่วนการลงทุนที่ผ่อนคลายมากขึ้น
โดยบริษัทจัดการจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่มประเทศ GMS ในหนังสือชี้ชวนให้ผู้ลงทุนได้รับทราบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายและอัตราส่วนการลงทุนในตราสารกลุ่มประเทศ GMS ตลอดจนเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรณีที่กองทุนลงทุนในทรัพย์สินกลุ่มประเทศ GMS ข้างต้นตั้งแต่ร้อยละ 60 ของ NAV ขึ้นไป บริษัทจัดการจะต้องอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าวให้ผู้ลงทุนเข้าใจ รวมถึงดำเนินการให้ผู้ลงทุนรับทราบความเสี่ยงก่อนการลงทุนด้วย
“การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนสำหรับกองทุนรวมนี้จะช่วยสร้างโอกาสและสนับสนุนการระดมทุนไปพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตสูงได้ต่อไป”นายวรพลกล่าว
ด้านนายไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด กล่าวว่า การออกเกณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นช่องทางให้สามารถออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศนี้ได้ แต่มองเรื่องการออกไปลงทุนนั้นต้องดูเรื่องผลตอบแทนและความน่าสนใจอีกทีว่าจะน่าสนใจเพียงใด
ทั้งนี้ หากเป็นการลงทุนในหุ้นของประเทศเหล่านี้ถือว่ายังไม่น่าสนใจ หากในอนาคตตลาดมีการพัฒนาเติบโตขึ้นจึงอาจมีการไปพิจารณาลงทุนได้เช่นกัน แต่หากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ถือว่าปัจจุบันก็มีการออกบอนด์ในรูปสกุลเงินบาทเข้ามาขายในไทยแล้ว เช่นประเทศลาว ซึ่งต่อไปก็ต้องดูว่าจะมีประเทศใดที่ออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดี
“การออกเกณฑ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่กองทุนรวมสามารถออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งหากมีผลตอบแทนที่ดีก็เชื่อว่าจะมีกองทุนออกไปลงทุนแน่นอน และการออกตราสารหนี้ หรือหุ้นในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา จะมีออกมาตามการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต”