คอลัมน์ Money guru
โดย ฐิติรัฐ รัตนสิงห์
ผู้จัดการกองทุน
ฝ่ายตราสารทุนต่างประเทศ
บลจ.เอ็มเอฟซี
“สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจ คือ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่เลยในตลาดหุ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ในปัจจุบัน นั่นก็เพราะว่านิสัยของคนเราไม่เคยเปลี่ยน อารมณ์ต่างๆ ถูกหลอมรวมกันจนเกิดเป็นพฤติกรรมของมนุษย์” เจสซี ลอริสตัน ลิเวอมอร์
การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ต่างๆ นั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังเกิดจากการซื้อขายของมนุษย์ จิตใจของมนุษย์ปุถุชนทั่วไปย่อมมีความโลภและความกลัว ส่งผลให้การตัดสินใจสามารถอยู่เหนือเหตุผลได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์และการเงินซึ่งมีสมมติฐานที่ว่าทุกคนในตลาดมีการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผลตลอดเวลาไม่สามารถอธิบายหรือทำนายการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ดีเท่าที่ควร
พฤติกรรมฝูงชน (Crowd Psychology) ถูกนำมาศึกษาตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1800 โดยกุสตาฟ เลบอง ชาวฝรั่งเศส เลบองให้ข้อสังเกตว่า จิตใต้สำนึกของบุคคลสามารถนำพาฝูงชนได้ มนุษย์มักจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามกระแสฝูงชน เพราะจะรู้สึกอ้างว้างในจิตใจที่ถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว นั่นจะทำให้บุคคลตัดสินใจไปตามกระแสภายใต้อิทธิพลภาวะฝูงชน โดยมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตัดสินใจ ตัวอย่างที่ดีของพฤติกรรมฝูงชนก็คือตลาดหุ้น ซึ่งเต็มไปด้วยข่าวสาร รวมถึงหลากหลายความเห็นที่ช่วยในการตัดสินใจ ดังนั้นหากท่านผู้อ่านบทความนี้กำลังคิดตัดสินใจลงทุนในตลาดทุน เนื่องจากเห็นคนรอบข้างจำนวนมากเข้าไปลงทุน และได้ผลกำไรที่มากมายนั้น โปรดระวัง ท่านอาจกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของพฤติกรรมฝูงชน
แนวความคิดที่สวนกระแส (Contrarianism) คืออะไร
ความคิดเห็นของคนในตลาดนั้นเปรียบเสมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปมาหาจุดสมดุลตรงกลางไม่ได้ โดยประวัติศาสตร์แล้ว หากภาวะอารมณ์ของคนในตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะอารมณ์ขีดสุด เช่น โลภที่สุด กลัวที่สุด ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่จะผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปมาก เปรียบเสมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาที่ห่างจากจุดศูนย์กลางมากจนเกินไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสสำหรับนักลงทุนที่มองเห็น
“ผมเชื่อว่าราคาในตลาดผิดอยู่เสมอ เนื่องจากราคานั้นบิดเบือนจากการถูกคาดการณ์อนาคต” จอร์จ โซรอส
“ความลับของความรวยของผมคือ จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกลัว”วอร์เรน บัฟเฟตต์
“ทฤษฎีงานคอกเทล” ปีเตอร์ ลินช์
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรที่จะสวนกระแสคนส่วนใหญ่ทุกครั้งไป การคิดทบทวนอีกครั้งเป็นสิ่งจำเป็น เช่น
ความคิดแรก คือ บริษัท A เป็นบริษัทที่ดี ซื้อหุ้นกันเถอะ
คิดทบทวนอีกครั้ง บริษัท A เป็นบริษัทที่ดี แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าบริษัท A เยี่ยมมาก ดังนั้นราคาเกินมูลค่าความเป็นจริง ขาย!
โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าในภาวะตลาดแบบใด รูปแบบการลงทุนแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนคือ การมีสติสัมปชัญญะและการควบคุมอารมณ์ หวังว่าสติและแนวความคิดดังกล่าวจะช่วยนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย