ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียล่าสุด จากการทำสำรวจโดยการสัมภาษณ์นักลงทุนกว่า 3,500 คนใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นขาขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจจากดัชนีความเชื่อมั่นของแมนูไลฟ์แคนาดา และจอห์น แฮนค็อกซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของแมนูไลฟ์ในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทุกตลาดเป็นบวก ยกเว้นฮ่องกง และเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากนโยบายอาเบะโนมิกส์ นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ขณะที่ตลาดเดียวที่แสดงความเชื่อมั่นติดลบนั้นคือ ฮ่องกง
ผลสำรวจ Manulife ISI แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ทั้งในเอเชีย และแคนาดา มองว่าสถานะทางการเงินจะมีการปรับระดับดีขึ้นใน 2 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมา สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนยังมองเห็นว่าสถานะทางการเงินจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“ผลการสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นว่านักลงทุนเอเชียตอบสนองต่อสัญญาณฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของทวีปอเมริกาเหนือ แต่นักลงทุนหลายรายยังไม่พร้อมที่จะลงทุนและเลือกใช้แนวทางที่เน้นการถือเงินสดเป็นจำนวนมากไว้แทน ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสูญเสียเงินไปโดยปริยาย” มร.โรเบิร์ต เอ คุ้ก, ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชียของแมนูไลฟ์ กล่าว
แม้ผลสำรวจโดยรวมจะออกมาเป็นบวก แต่ก็มีจุดอ่อนของความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อมั่นกับแผนลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เช่นในญี่ปุ่นที่นักลงทุนมีทัศนะเชิงบวกเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น แต่ผู้วางแผนลงทุนอย่างจริงจังกลับมีจำนวนต่ำกว่าในจีนและไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่ำกว่า
ผลสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นแนวทางลงทุนแบบ “บาร์เบล” ในตลาดเอเชียที่พัฒนาแล้ว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญต่อเงินสดและหุ้น ซึ่งสินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้เป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ถือครองมากที่สุดสองอันดับแรก และเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนถืออยู่มากที่สุดสองอันดับแรกด้วยเช่นกัน (ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยหลัก)
ผลสำรวจ Manulife ISI ระบุด้วยว่า นักลงทุนเอเชียอยู่ในภาวะถือเงินสดมากเกินไป โดยร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ (นอกจากบ้านที่อยู่อาศัยหลัก) ของผู้ที่ตอบคำถามที่ถืออยู่จะอยู่ในรูปของเงินสด โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าสินทรัพย์ในลำดับรองลงมา คือ ประกันภัย และหุ้นถึงสองเท่าตัว เมื่อพิจารณาทั้งภูมิภาค
ผลสำรวจ Manulife ISI ยังบ่งชี้ว่านักลงทุนในภูมิภาคเอเชียคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง โดยนักลงทุนครึ่งหนึ่งที่สำรวจระบุว่าคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ราวร้อยละ 20 จากการลงทุนหุ้น ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่แท้จริงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาถึงสองเท่าตัว ความคาดหวังต่อตลาดหุ้นของนักลงทุนค่อนข้างสูง
มร.โรนัลด์ ชาน หัวหน้าส่วนการลงทุนตราสารทุนภูมิภาคเอเชีย Manulife Asset Management กล่าวว่า ตลาดโลก รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิกมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงนี้จากการทยอยลดมาตรการ QE ในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี แม้ทิศทางระยะสั้นของตลาดโดยรวมน่าจะเป็นไปตามรายงานข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค แต่ย้อนหลังหนึ่งปีที่ผ่านมาปัจจัยพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น และยังคงมีโอกาสมากมายในตลาดหุ้นสำหรับนักลงทุนเมื่อพิจารณาตามรายภาคอุตสาหกรรมและตามรายหุ้น
โดยการตอบสนองเชิงบวกต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในผลสำรวจ Manulife ISI และสอดคล้องกับการศึกษาใหม่ ชื่อ “มุมมองของอาเบะโนมิกส์ : ความหมายสำหรับตลาดการเงิน (The outlook for Abenomics: Implications for financial markets)” ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Manulife Asset Management โดยผลสำรวจชี้ว่านโยบายอาเบะโนมิกส์น่าจะประสบความสำเร็จโดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายด้าน รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาษีบริโภครูปแบบใหม่ตามที่วางแผนไว้ และความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
ขณะที่ นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แม้เงินฝากธนาคารจะยังเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนไทยถือมากที่สุด แต่เราเชื่อว่าเงินฝากธนาคารนั้นได้นำไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก โดยปัจจุบันนักลงทุนจำเป็นต้องหาทางเลือกในการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสินทรัพย์ลงทุนของตนเอง ซึ่งสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ หุ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรงหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ เช่น กองทุนหุ้น กองทุนผสม หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF)
ขณะที่การส่งเสริมการขายกองทุนรวมอย่างแข็งขันจากบริษัทจัดการกองทุนและกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งผลให้นักลงทุนมีความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราการเข้าลงทุนในกองทุนรวมพิจารณาจากจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งทะยานขึ้นจาก 1.48 ล้านบัญชีในปี 2550 มาอยู่ที่ 3.55 ล้านบัญชีในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 นอกจากนี้ สัดส่วนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนต่อบัญชีเงินฝากธนาคารยังเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.14 ในปี 2545 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.33 ในปี 2555 อีกด้วย โดยเราเชื่อว่าสัดส่วนดังกล่าวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต